รู้ทันอารมณ์และพฤติกรรมผู้สูงวัย
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
31-01-2023 09:19
การทะเลาะกัน กระทบกระทั่งกัน ระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน มักจะเกิดอยู่บ่อย ๆ อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจกัน ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้อธิบายถึงที่มาเหตุผลของอารมณ์ต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ไว้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรหลานอาจเกิดได้จากทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างสองวัย ไม่ว่าจะเป็นการมองสิ่งต่างๆ คนละแบบ คนละมุม จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน
การทะเลาะกัน กระทบกระทั่งกัน ระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน มักจะเกิดอยู่บ่อย ๆ อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจกัน ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้อธิบายถึงที่มาเหตุผลของอารมณ์ต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ไว้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรหลานอาจเกิดได้จากทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างสองวัย ไม่ว่าจะเป็นการมองสิ่งต่างๆ คนละแบบ คนละมุม จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน
ความแตกต่าง และความไม่เข้าใจนั้น ทำให้ลูกหลานเกิดคำถามว่า ทำไมผู้สูงอายุต้องเป็นแบบนั้น? สิ่งที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมขี้บ่น จู้จี้จุกจิก อาจเกิดได้จากหลายซึ่งปัจจัย ดังนี้
- อาการขี้บ่น เกิดจากการที่ผู้สูงอายุอยู่บ้านตลอดทั้งวันเพียงลำพัง โดยไม่ได้พูดคุยกับใคร เมื่อลูกหลานกลับจากทำงาน ท่านอาจจะต้องการพูดคุยกับเราแต่ไม้รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงแสดงออกด้วยการบ่นแทน เมื่อผู้สูงอายุเริ่มบ่น ให้ลูกหลานทำความเข้าใจว่า นี่เป็นการเปิดบทสนทนาของผู้สูงอายุ เหมือนคำทักทายว่า “กลับมากันแล้วหรือ” ลองมองข้ามว่านี่เป็นการบ่น ก็จะช่วยให้เราเข้าใจท่านมากขึ้น
- หากผู้สูงอายุบ่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ให้ทำความเข้าใจว่านั่นคือ ความเป็นห่วง เช่น อย่ากลับดึกนะลูก อย่าดื่มเหล้าให้มากนะแม่เป็นห่วง ลองเปิดใจรับฟังอย่าเพิ่งรำคาญท่านนะคะ
- ควรใช้น้ำเสียงที่ดีในการตอบรับ หรือพูดคุยกับผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดความสบายใจ
- กรณีที่ผู้สูงอายุมีคำถามกับเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา ส่วนหนึ่งอาจมาจากความกังวลของผู้สูงอายุ หรือหากว่าก่อนหน้านั้นท่านไม่เคยมีคำถามซ้ำๆ มาก่อน เมื่อเราตอบคำถามแล้วท่านจำไม่ได้ต้องถามซ้ำอีก อาจสงสัยได้ว่าท่านมีภาวะของโรคเกิดขึ้นได้ เช่น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวลสูง หรือภาวะสมองเสื่อมระยะต้น
- กรณีที่ผู้สูงอายุมีอาการง่วงนอน หรือหลับตลอดทั้งวัน อาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น ผู้ชายอาจมาจากภาวะต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน การนอนกรน ซึ่งสาเหตุต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดี และมีอาการง่วงนอนในกลางวันได้ ทั้งนี้ลูกหลานสามารถพาผู้สูงอายุไปออกกำลังกายในช่วงที่มีแสงแดดอ่อนๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับเวลาแยกระหว่างช่วงกลางวัน กลางคืนได้อย่างเหมาะสม
- ประหยัดมากเกินไป สาเหตุที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักประหยัด อาจเนื่องมาจากในอดีตท่านเคยลำบากมาก่อน จึงพยายามประหยัดอดออมเพื่อวันข้างหน้า และติดมาจนมาถึงปัจจุบัน
- บุคลิกชอบเก็บของเก่า หรือใช้ของชิ้นเดิมซ้ำๆ วนไปวนมา ไม่ยอมทิ้ง อาจเพราะว่าสิ่งนั้นมีประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ของชิ้นแรก ลองร่วมกันหาวิธีหรือขั้นตอนการจัดเก็บเพื่อรักษาสิ่งของนั้นไว้ให้ท่านได้หยิบจับ หรือนำมาชื่นชมได้อย่างสะดวก
ความแตกต่างของช่วงวัย อาจทำให้ทัศนคติ ความคิดเห็นไม่ตรงกัน และหากเราเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน พยายามเข้าใจธรรมชาติของช่วงวัย ดูแลและสร้างความสุขในครอบครัว เท่านี้ผู้สูงอายุก็จะมีความสุขมีรอยยิ้มด้วยความรักความเข้าใจจากลูกหลาน
ที่มา : มหิดล แชนแนล
https://youtu.be/Hu2Fx-ZFmZY