Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

Misgender คืออะไร ใช่การทำร้ายใจกันหรือเปล่า


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

31-01-2023 07:45

Misgender เปรียบเสมือนตัวร้ายที่บั่นทอนความมั่นใจและทำลายสภาพจิตใจคนข้ามเพศ

ภาพประกอบเคส

จากการสำรวจโดย The 2015 U.S. Transgender Survey (USTS) องค์กรที่สำรวจชีวิตคนข้ามเพศในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความหลากหลายของคนข้ามเพศ พบว่าคนข้ามเพศถูกคุกคามทางคำพูดเมื่อเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ 46% และจากการศึกษาของ The International Society for Self and Identity (ISSI) องค์กรที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ พบว่าคนข้ามเพศเกิดบาดแผลในใจอย่างรุนแรงจากการโดน Misgender 32.8% ไม่เพียงเท่านั้น 29% ของคนข้ามเพศในออสเตรเลีย ยังหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เนื่องจากไม่อยากถูกค้นประวัติว่าเพศกำเนิดของตนเป็นอย่างไร เพราะกลัวคำพูดจากบุคลากรในโรงพยาบาล เช่น “อ้าว นึกว่าเป็นผู้หญิงแท้ๆ ซะอีก” ลามไปถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศ

เริ่มจากการทำความเข้าใจคำว่า ‘คนข้ามเพศ (Transgender)’ ซึ่งเป็นร่มใหญ่ที่อธิบายคนที่มีเพศสภาพ การใช้ชีวิต และการนิยามตัวตนต่างจากเพศกำเนิด แบ่งออกเป็น Trans man หรือ ผู้ชายข้ามเพศ ที่เกิดมาโดยใช้คำนำหน้าว่า ‘เด็กหญิง’ ในใบแจ้งเกิด แต่ใช้ชีวิตเป็นผู้ชาย และมีจิตใจหรือรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้ชายยามโตขึ้น และ Trans women ผู้หญิงข้ามเพศ ที่เกิดมาโดยใช้ ‘เด็กชาย’ แต่ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง และมีจิตใจหรือรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้หญิง

Misgender เปรียบเสมือนตัวร้ายที่บั่นทอนความมั่นใจและทำลายสภาพจิตใจคนข้ามเพศ หรือการที่คนข้ามเพศเปิดเผยเพศกำเนิดของตนกับคนในสังคมแล้วโดนแปะป้ายด้วยคำพูดและการกระทำที่ทำให้เขาหรือเธอเป็นแบบเพศกำเนิด หรือเพศที่สังคมอยากจะเรียก ไม่ใช่สิ่งที่ตัวคนข้ามเพศ “เลือกจะเป็น” หรือ “เลือกให้เรียก” แต่อย่างใด เช่น เรียกผู้ชายข้ามเพศว่าผู้หญิงหรือทอม เรียกผู้หญิงข้ามเพศว่าผู้ชายหรือกะเทย และรวมไปถึงการล้อชื่อเก่า หรือชื่อแรกตอนกำเนิดของคนข้ามเพศ

คงมีคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วคนที่เขาพอใจจะถูกเรียกว่าทอมหรือกะเทยล่ะ? ผิดหรือไม่? คำตอบ คือ ไม่ผิด เพราะนั่นคือสิทธิ์ส่วนบุคคลของแต่ละคน เพราะฉะนั้นหากเราเจอคนที่ชอบให้ถูกเรียกว่าทอมหรือกะเทยเยอะกว่าคนที่อยากให้เรียกว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เราก็ไม่มีสิทธิ์เหมารวมว่าทุกคนจะเป็นแบบเดียวกันหมด แต่ต้องไม่ลืมเปิดใจรับฟังคนที่เขาไม่ชอบให้เรียก หรือมองว่าเขา “ผิด” ด้วยเช่นกัน

หัวใจของการหยุด Misgender คือ การเคารพในสิ่งที่ตัวบุคคลอยากให้เรียกนั่นเอง

ที่มา : ส่วนหนึ่งจาก urbancreature https://urbancreature.co/misgender-transgender
ข้อมูลจาก : พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ (ผู้เขียน)


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท