Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

พัฒนาการในเด็กหยุด เมื่อเจอความรุนแรง


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

27-01-2023 09:56

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้น เป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน อย่างเช่นการเฆี่ยนตีลูกเพื่อเป็นการลงโทษหรือสั่งสอน จนซึ่งในปัจจุบันก็ยากที่จะปฏิเสธว่ายังมีครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ หรือสั่งสอนเด็ก ๆ ตามข่าวที่เราเห็นผ่านตา

ภาพประกอบเคส

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้น เป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน อย่างเช่นการเฆี่ยนตีลูกเพื่อเป็นการลงโทษหรือสั่งสอน จนซึ่งในปัจจุบันก็ยากที่จะปฏิเสธว่ายังมีครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ หรือสั่งสอนเด็ก ๆ ตามข่าวที่เราเห็นผ่านตา

ความรุนแรงนั้นอาจจะส่งผลต่อทั้งสภาพจิตใจของเด็กเล็ก เกิดเป็นรอยแผลบนพัฒนาการ จนอาจจะทำให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ช้าลง หรือหยุดพัฒนาการในบางส่วนไป เราจะมาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาหรือการลงโทษเด็ก ๆ ควรทำหรือไม่ แล้วควรเลี้ยงลูกอย่างไรหากเราจะไม่ลงโทษแบบเฆี่ยนตี

5 ขวบแรก ช่วงเวลาทองแห่งพัฒนาการ
ตามธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กนั้น จะสามารถพัฒนาการได้เป็นอย่างดีในหลาย ๆ เรื่อง จนถึงช่วงอายุ 5 ขวบ เรียกได้ว่าช่วงวัยนี้เป็นช่วงทองแห่งพัฒนาการในเด็ก ทั้งในด้านการเรียนรู้ การเข้าสังคม ด้านอารมณ์ ความคิด การตัดสินใจ พ่อแม่จะเป็นทั้งผู้ช่วยเสริมพัฒนาการให้เด็ก ๆ และในขณะเดียวกัน อาจสร้างบาดแผลทางความรู้สึกโดยไม่รู้ตัวทั้งในด้านของคำพูดและการกระทำ จนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้เด็ก ๆ นั้นหยุดพัฒนาการในบางด้านได้เช่นกัน

การใช้ความรุนแรงกับเด็กดีจริงหรือ
เชื่อว่ายังมีหลายๆ ครอบครัวที่ยังคงมีความเชื่อว่าการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่ดีกับลูก ช่วยให้พวกเขามีนิสัยที่ดีมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีงานวิจัยอย่างหลากหลายว่า การลงโทษเด็กๆ โดยการสร้างความรุนแรงไม่ว่าจะผ่านคำพูด ด่าทอ หรือว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างความรุนแรงทางร่างกาย หรือการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเรื่องอาการต่อต้านสังคม พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตอนโต และรวมไปถึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของอาการทางจิตได้เช่นกัน

“ความรุนแรง” สิ่งอันตรายที่หยุดพัฒนาการเด็กได้
การพัฒนาการคือสิ่งที่มนุษย์นั้นสามารถทำได้ตลอด แต่จะเห็นผลและชัดเจนมากคือในช่วง 5 ปีแรกอย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น เด็กจะสามารถพัฒนาการได้ผ่านหลายปัจจัย แต่พัฒนาการเหล่านี้จะหยุดลงหากพ่อแม่ลงโทษลูก ๆ โดยใช้ความรุนแรง ซึ่งก็อาจจะเป็นการเปิดประตูบานแรกที่จะทำให้ลูกของเรากลายเป็น “เด็กมีปัญหา” ของสายตาคนในสังคม โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัด เช่น ด้านการเข้าสังคม การต่อต้านสังคม การไว้วางใจคนรอบข้าง รวมไปถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และรุนแรงในอนาคต เป็นปัญหาทางสภาวะอารมณ์ อันนำไปสู่การเกิดโรคทางจิต เช่น สภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด

ไม่ลงโทษโดยใช้ความรุนแรง แต่ลงโทษแบบสร้างสรรค์ดีกว่า
แน่นอนว่าการทำผิดเองนั้นต้องมีการลงโทษอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เพราะมันคือส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ แต่ถ้าเราลงโทษอย่างสร้างสรรค์นั้นก็จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จักเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกและผิดได้ดีมากขึ้น โดยวิธีการส่วนใหญ่ที่เรามักเห็นกันคือการสร้างข้อตกลงง่าย ๆ ให้เหมาะกับช่วงวัย เช่นการลงโทษด้วยเมินลูก ทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือหากเป็นเด็กที่เริ่มโตขึ้นมาก็อาจจะปรับเป็นการงดกิจกรรมที่เขาชอบ ให้รับผิดชอบในสิ่งที่ทำผิด ให้ทำตารางทำงานบ้านเพิ่ม หรือการตัดสิทธิ์ของรางวัลที่จะได้รับเป็นต้น

การใช้หลักการสื่อสารเชิงบวก หรือ I-Message เป็นอีกวิธีที่ดีและหลายๆ ครอบครัวนำมาใช้ในการพูดคุยเพื่อบอกกล่าวถึง ‘พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง รวมไปถึงพฤติกรรมที่ผิด’ โดยหลักการ คือ การสื่อสารแบบตรง ๆ ผ่านการนำตัวผู้พูดเองเป็นผู้ริเริ่มการสื่อสาร และที่สำคัญเราต้องพูดถึงพฤติกรรม แต่ไม่ได้บ่น ด่าทอ ถึงตัวอีกฝ่าย ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยสร้างความเข้าใจทั้งในเรื่องของพฤติกรรมที่พวกเขาทำแล้วมันผิด ไม่เหมาะสม ไม่ควร และเป็นวิธีที่ได้ผลดี ส่งผลต่อเรื่องพัฒนาการด้านสังคมอีกด้วย

ลงโทษลูกถูกวิธี ส่งผลดีต่อพัฒนาการ
การลงโทษลูกอย่างถูกวิธีจะช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ถึงพฤติกรรมที่ควร และไม่ควรได้ด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องอาศัยเรื่องของการเฆี่ยนตี หรือเรื่องของการใช้ความรุนแรงจนสร้างบาดแผลทางจิตใจได้ ซึ่งการลงโทษอย่างสร้างสรรค์และถูกวิธีเป็นการปูทางไปสู่พัฒนาการที่ดี ทั้งด้านจิตใจ และการเข้าสังคม ของลูกได้ในที่สุด

นอกจากพ่อแม่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในพัฒนาการของลูก ยังช่วยเพิ่มความรัก ความสามัคคีที่มีในครอบครัวอีกด้วย ทำให้เด็ก ๆ นั้นเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ทั้งในเรื่องของ IQ หรือ EQ ก็จะพัฒนาตามความสุขที่ได้รับจากครอบครัวเช่นกัน เหมือนเป็นการสร้างเกราะป้องกันทางความรู้สึกให้กับลูก ๆ ไปในตัว

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3WJ1DTj


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท