การพูดคุยกับลูกวัยรุ่น เริ่มต้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
27-01-2023 09:52
พ่อแม่หลายคนอาจกลุ้มใจหรือรู้สึกหงุดหงิดที่ลูกซึ่งเคยว่านอนสอนง่ายเริ่มโต้เถียง ไม่เชื่อฟัง และแสดงพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง กังวล หรือ รู้สึกขัดหู ขัดตา ขัดใจ พ่อแม่หลายคนแสดงออกถึงความห่วงใยลูก ด้วยคำพูดบ่น ว่าตักเตือน แต่ผลที่ได้รับกลับมาคือ ลูกที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นจะโต้ตอบด้วยความไม่พอใจ ความโกรธ หรือ ถ้อยคำรุนแรงและไม่ทำตาม
พ่อแม่หลายคนอาจกลุ้มใจหรือรู้สึกหงุดหงิดที่ลูกซึ่งเคยว่านอนสอนง่ายเริ่มโต้เถียง ไม่เชื่อฟัง และแสดงพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง กังวล หรือ รู้สึกขัดหู ขัดตา ขัดใจ พ่อแม่หลายคนแสดงออกถึงความห่วงใยลูก ด้วยคำพูดบ่น ว่าตักเตือน แต่ผลที่ได้รับกลับมาคือ ลูกที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นจะโต้ตอบด้วยความไม่พอใจ ความโกรธ หรือ ถ้อยคำรุนแรงและไม่ทำตาม
การพูดคุยกับลูกวัยรุ่นนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น หากพ่อแม่มีความเข้าใจและมีเทคนิควิธีการในการพูดคุย การสอน และ การเตือนลูก ปัญหานี้ก็จะสามารถแก้ไขได้ ดังนี้
1.แสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาของลูกวัยรุ่น
เข้าใจและพร้อมรับฟังเมื่อลูกอยากจะเล่าให้พ่อแม่ฟัง ถ้าลูกไม่อยากพูดก็ไม่ควรคาดคั้น แต่ควรพร้อมรับฟังทันทีเมื่อลูกต้องการเล่าให้ฟัง
2.รับฟังลูกวัยรุ่นอย่างใส่ใจและเปิดใจ
การที่พ่อแม่เปิดใจรับฟังลูกอย่างมีเหตุผลและอดทนที่จะรับฟังขณะที่ลูกพูดแม้ว้าจะเป็นเรื่องไร้สาระ ช่องว่างระหว่างวัยจะลดลงได้ด้วยการรับฟังอย่างเข้าใจ
3.กระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นได้แสดงความคิดเห็น
โดยใช้คำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้ลูกเล่า เช่น เรื่องมันเป็นอย่างไร คำพูดอะไรของเพื่อนที่ทำให้ลูกโกรธ ลูกโต้ตอบเพื่อนอย่างไรเมื่อเพื่อนล้อเลียนลูก รวมทั้งการพูดถึงความรู้สึกของลูกตามที่พ่อแม่รับรู้และเข้าใจ เช่น ลูกเสียใจที่เพื่อนเข้าใจลูกผิด ลูกหัวเสียที่เพื่อนไม่ช่วยงานในกลุ่ม ซึ่งคำพูดเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟังให้ความสำคัญกับตนเองและทำให้ลูกอยากเล่าเรื่องราวมากขึ้น
4.ให้ความเห็น คำแนะนำ และข้อเสนอแนะต่างๆ แทนการสั่งให้ลูกทำ
ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การคบเพื่อน การปรับตัว ควรเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยน ให้โอกาสลูกได้พูดข้อคิดเห็นและมุมมองของตัวเอง การที่พ่อแม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้และสามารถให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอีกด้านหนึ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมาจากความห่วงใยและปรารถนาดี จะทำให้ลูกเปิดใจรับฟังพ่อแม่และยินดีปฏิบัติตามมากกว่าวิธีการสั่งให้เขาทำ
5.สอนลูกวัยรุ่นในบรรยากาศแบบสบายๆ
การสอนเรื่องอะไรก็ตามอย่าสอนหรือพูดคุยอย่างเป็นทางการเพราะลูกจะไม่เชื่อฟัง แต่อาศัยการสอนอ้อม ๆ หรือจากละคร ข่าวสารต่างๆ ด้วยอารมณ์ขันและพยายามรับฟังความเห็นของเขา เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความเห็น เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยก็พร้อมจะรับฟังมากขึ้น
6.พูดคุย และ สอนเฉพาะเรื่องที่จำเป็น
ลูกต้องการความเป็นส่วนตัว เรื่องบางเรื่องเขาอาจยังไม่พร้อมให้พ่อแม่รับรู้ ถ้าเห็นว่าไม่ร้ายแรงหรือไม่เป็นอันตรายก็ไม่ควรซักไซร้มากเกินไป เพราะบางครั้งความเป็นห่วงอาจกลายเป็นสร้างเรื่องน่ารำคาญ และส่งผลให้ลูกวัยรุ่นไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่
ที่มา : เอกสารแผ่นพับ เรื่อง "คุยกับลูกวัยรุ่น" โดย : กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ / สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ https://bit.ly/3Xy4lMr