Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ความเข้าใจผิดและการใช้ศัพท์ที่ไม่เหมาะสมเพื่อแสดงถึง LGBTQIA+


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

27-01-2023 08:55

สังคมในปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางเพศและการเปิดกว้างที่มากขึ้นนี้ การตระหนักรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนการปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสมกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกเพศ เนื่องจากจะทำให้สังคมของเราน่าอยู่และเป็นพื้นที่ที่สร้างความสบายใจให้แก่ทุกคนและให้ความรู้สึกปลอดภัยอยู่เสมอ

ภาพประกอบเคส

สังคมในปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางเพศและการเปิดกว้างที่มากขึ้นนี้ การตระหนักรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนการปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสมกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกเพศ เนื่องจากจะทำให้สังคมของเราน่าอยู่และเป็นพื้นที่ที่สร้างความสบายใจให้แก่ทุกคนและให้ความรู้สึกปลอดภัยอยู่เสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางส่วนในสังคมที่ยังขาดความเข้าใจ และมีภาพจำเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น คนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนตลก มีฝีปากจัดจ้าน แต่งตัวเก่งจัดหนักจัดเต็ม หรือแม้แต่คนที่มองว่ากลุ่มคนนี้เป็นโรคทางจิตเภท ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้คนกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องอยู่กับมันมาตลอด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนบนโลกไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศใดก็สามารถมีหรือไม่มีลักษณะนิสัยหรือการใช้ชีวิตเช่นนั้นได้ เพราะแต่ละคนก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง และแน่นอนว่าไม่มีใครพอใจกับการถูกยัดเยียดลักษณะนิสัยหรือตัวตนให้ต้องเป็นไปตามความคาดหวังของผู้อื่น ตราบใดที่เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีการใช้คำเรียกที่ไม่เหมาะสมในการเรียกผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายครั้งมักเกิดจากการมีภาพจำและความเข้าใจผิดต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น - คนในสังคมจำนวนไม่น้อยมักคิดว่า LGBTQIA+ ล้วนอยากถูกเรียกว่า “แม่” หรือ “พี่สาว/น้องสาว” ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะเกย์และกะเทยบางคนไม่ได้ต้องการที่จะถูกเรียกเช่นนั้น - “การไม่พยายาม” ทำความเข้าใจในความปกติธรรมดาและ “การไม่ตระหนักรู้” ของใครอีกหลายคนต่อความหลากหลายทางเพศของคนกลุ่มนี้ - การ misgender ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการไม่ยอมรับสตรีหรือบุรุษข้ามเพศว่าเป็นสตรีหรือบุรุษคนหนึ่ง เช่น การที่คนในสังคมบางส่วนล้อเลียนสตรีข้ามเพศ (transwomen) ว่า “ลุง” เป็นต้น - การ “ไม่เคารพ” ในสิทธิ์ของผู้อื่น คิดว่าการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเปลี่ยนได้ หรือใช้ถ้อยคำดูถูกรสนิยมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น “นิ้วเย็น ๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่น ๆ”, “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ”, “ที่เป็น Asexual เพราะยังไม่เจอเซ็กส์ดี ๆ ล่ะสิ”, “เดี๋ยวถ้าเจอผู้ชายดี ๆ ก็เลิกเป็นเลสเบี้ยนเองนั่นแหละ” เป็นต้น

ในสังคมยังมีคำเรียกมากมายที่อาจสื่อความหมายและแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียม เช่น “เพศที่สาม” ที่เป็นการลำดับเพศ แสดงถึงความเหนือกว่าของเพศ เพศที่หนึ่งคือใคร เพศที่สองคือใคร แล้วทำไมคนกลุ่มนี้ถึงต้องเป็นเพศที่สาม และคำว่า “เพศทางเลือก” ก็เป็นการทำให้การเป็นผู้มีความหลากหลายนี้เป็นเพียงการ “เลือก” ออกจาก “ความปกติที่สังคมตีกรอบไว้” อย่างเพศหญิงและชาย ซึ่งในความจริงแล้วทุกเพศไม่ใช่ทางเลือก รวมถึงคำว่า “คนรักร่วมเพศ” ก็เช่นกัน เนื่องจากตัวคำศัพท์เองนั้นอาจสื่อไปในทางที่ไม่เหมาะสม และอาจสร้างภาพจำที่ไม่ดีให้กับพวกเขาว่าจะเป็นผู้ที่หมกมุ่นในเรื่องเพศโดยเฉพาะกับเพศเดียวกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้มีความหลากหลายทางเพศก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับสิทธิ์เสรีภาพเทียบเท่ากับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่คนผิดปกติที่ต้องหาคำเรียกมาจำกัดพวกเขา หรือมากันเขาออกจาก “ความปกติ” ของสังคมเพราะเขาก็เป็นคนปกติเช่นกัน

คำเรียกที่ว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นคำที่ครอบคลุมมากที่สุดและมีปัญหาด้านการอคติทางเพศน้อยที่สุด เพราะการใช้คำนี้ถือเป็นการเปิดกว้างต่อความหลากหลาย ไม่เหมือนคำอื่น ๆ อย่างเพศที่สามหรือเพศทางเลือกที่ได้กล่าวไป คำนี้เองยังไม่ถือว่าเป็นคำเรียกที่ใช้เหยียดและยังเป็นการสื่อนัยยะของความเคารพและเท่าเทียมกันทางเพศอีกด้วย อย่างไรก็ตามการใช้คำเรียกเพศของผู้อื่นควรคำนึงถึงความสมัครใจของผู้นั้นเป็นสำคัญ หากเป็นไปได้ก็ควรถามผู้นั้นโดยตรงว่าต้องการให้ใช้คำใด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและไม่กลายเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้อื่น

ที่มา : คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (ก.อศ.)
https://www.arts.chula.ac.th/~artsgoz/wordpress/index.php/archive/lgbtqia-in-thai-society


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท