ภาวะตัวเย็นเกิน Hypothermia
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
30-11-2022 13:53
ฤดูหนาวช่วงเวลาที่ใครหลายคนเฝ้ารอ เพราะนอกจากจะเป็นฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวชมสายหมอแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบาย ไม่มีเหงื่อ แต่อากาศที่หนาวเย็นก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น ผิวหนังแห้ง มีไข้ ไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่าง ภาวะตัวเย็นเกิน
ฤดูหนาวช่วงเวลาที่ใครหลายคนเฝ้ารอ เพราะนอกจากจะเป็นฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวชมสายหมอแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบาย ไม่มีเหงื่อ แต่อากาศที่หนาวเย็นก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น ผิวหนังแห้ง มีไข้ ไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่าง ภาวะตัวเย็นเกิน
ภาวะตัวเย็นเกิน เกิดจากการที่ร่างกายได้สัมผัสกับความหนาวเย็น เช่น สภาพอากาศที่อุณหภูมิลดต่ำเกิน หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ร่างกายจะพยายามสร้างความอบอุ่นขึ้นมา โดยการกดตัวของหลอดเลือดส่วนปลายเพื่อที่จะเก็บความร้อนไว้ในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง ผิวหนังมีความเย็นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบหัวใจและสมอง และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของการสูญเสียความร้อน
- เกิดจากการสัมผัสกับความหนาวเย็น เช่น อากาศหนาว หรือแช่อยู่ในน้ำเย็นจัด มักพบในคนอายุไม่มากที่ร่างกายแข็งแรง เกิดขึ้นเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นส่วนใหญ่
- เกิดจากร่างกายสูญเสียความร้อน มักพบในผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) ผู้ที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน (เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต โรคสมองเสื่อมหรือปัญญาอ่อน พาร์กินสัน เบาหวานที่มีภาวะประสาทเสื่อม ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดอาหาร เป็นต้น)
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือกินยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท บุคคลกลุ่มนี้เมื่อสัมผัสอากาศเย็นพอประมาณ (ไม่ถึงกับหนาวมาก) อุณหภูมิร่างกายก็จะลดลงถึงขั้นเป็นอันตรายได้
อาการ
- ผู้ป่วยจะมีอาการสั่น ซึ่งเป็นอาการระยะแรกที่จะสังเกตได้
- ผู้ป่วยเริ่มมีอุณหภูมิลดต่ำลง จะมีความรู้สึกตัวน้อยลง พูดอ้อแอ้ เดินเซ อ่อนเพลีย ง่วงซึม ร่วมกับอาการหัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตสูงมาก
- ระยะที่ผู้ป่วยเริ่มไม่รู้สึกตัว หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น ซึ่งถึงขั้นเสียชีวิตได้
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบผู้ป่วยมีภาวะตัวเย็นเกิน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรแจ้ง 1669 ในระหว่างรอผู้ช่วยเหลือสามารถช่วยให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วย ได้ดังนี้
- พาผู้ป่วยหลบอากาศและลมที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็น เข้าไปในห้องที่อบอุ่นและไม่มีลมเข้า
- ถ้าเสื้อผ้าเปียกน้ำควรปลดออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้งแทน
- อบอุ่นร่างกายด้วยการห่อหุ้มร่างกายผู้ป่วยด้วยผ้านวม ผ้าห่มหนาๆ หรือเสื้อผ้าหนาๆ ในกรณีที่ยังอยู่ในกลางแจ้ง ควรคลุมถึงหน้าและศีรษะ (เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจากบริเวณนี้) นอกจากนี้อาจนอนกอดหรือแนบชิดร่างกายผู้ป่วย เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วย
- จับให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่นหรือมีผ้าหนาๆ ปูรอง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น ห้ามนวดหรือแตะต้องตัวผู้ป่วยแรงๆ อาจกระเทือนให้หัวใจหยุดเต้นได้
- ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ ห้ามมีแอลกอฮอล์ผสม เพราะยิ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน
- ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้แม้จะแผ่วๆ ก็ยังไม่ต้องทำการ CPR แต่ถ้าหยุดหายใจให้ทำการ CPR ทันที
การป้องกันอันตรายจากความเย็น ควรปฏิบัติดังนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้อบอุ่น
- หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ รวมทั้งปกคลุมถึงหน้าและศีรษะ ใส่ถุงมือถุงเท้า
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ในช่วงอากาศหนาวเย็น ควรดูแลกลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) เป็นพิเศษ ไม่ให้ได้รับอันตราย
ที่มา : รามาแชนแนล
https://bit.ly/3V8msHL