Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคไข้กาฬหลังแอ่น


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

30-11-2022 13:24

หลังจากที่พบการแพร่ระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น ในพื้นที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เนื่องจากเป็นสถานที่ปิดเจ้าหน้าที่จึงสามารถควบคุมโรคไว้ได้ พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว วันนี้เราจะทำความรู้จักกับโรคนี้ พร้อมทั้งแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มขึ้นด้วย

ภาพประกอบเคส

หลังจากที่พบการแพร่ระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น ในพื้นที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เนื่องจากเป็นสถานที่ปิดเจ้าหน้าที่จึงสามารถควบคุมโรคไว้ได้ พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว วันนี้เราจะทำความรู้จักกับโรคนี้ พร้อมทั้งแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มขึ้นด้วย

โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคที่รู้จักกันมานาน เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้แต่ไม่ทำให้เกิดกามโรคและมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า มีอัตราการตายสูงกว่า แต่ไม่ค่อยเกิดการระบาดเหมือนโรคระบาดอื่นๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่

การติดต่อของโรค
การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็ว มักเป็นการระบาดในวงจำกัด ส่วนใหญ่เกิดการติดต่อกับผู้สัมผัสโรค เช่น อาศัยในหอพัก ในกองทหาร ในห้องเรียน ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็ก หนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อายุน้อย การเกิดโรคไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลแต่อย่างใด

เชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น สามารถพบอยู่ในลำคอ ติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ ผ่านการไอ จาม เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไปสู่ผู้ใกล้ชิด ผู้ที่มีปัจจัยภายในตนเองผิดปกติบางอย่าง เช่น ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้ หรือ เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิต หรือระบบประสาทส่วนกลางได้ จึงก่อให้เกิดโรคขึ้น

เมื่อพบผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรายงานต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากจัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง

อาการของโรค
โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง คือ มีไข้ ผื่น และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตามลำดับที่พบมากไปน้อย ผู้ป่วยอาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 จาก 3 อย่างนี้ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันได้มาก อาจมีอาการค่อยเป็นค่อยไปจนถึงรุนแรงรวดเร็ว ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

อาการที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง, ขา, เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง, ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตา, หรือ มือได้ หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง, อาเจียน, คอแข็ง อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือสับสนได้ ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

การป้องกันโรคมี 2 วิธีหลัก คือ

  1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นป้องกันโรคได้เพียงบางสายพันธุ์ การให้วัคซีนจะได้ผลในบางพื้นที่ที่ทราบสายพันธุ์ของเชื้อ ในกรณีให้วัคซีนไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคจะไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน ในประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ A และ B
  2. การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ ยาต้านจุลชีพมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคโดยไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ ผู้ที่สมควรได้รับยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่น คือ ผู้ที่สัมผัสโรคใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน, เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก, ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย, ทหารในค่ายเดียวกัน และผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดในชุมชน

ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดข้างต้นควรแจ้งแก่แพทย์โดยเร็ว แพทย์จะสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ว่า ผู้สัมผัสโรคสมควรได้รับยาต้านจุลชีพป้องกันหรือไม่ รวมทั้งให้ชนิดใด ในรูปกินหรือฉีด ในกรณีทั่วไป ยาต้านจุลชีพป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้ผลดี

ที่มา :
1.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://bit.ly/3gx8gch
2.Workpoint today https://bit.ly/3GVTzKi


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท