วิธีรับมือกับลูกขี้หงุดหงิด
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
30-11-2022 12:45
คุณพ่อคุณแม่แทบทุกคนย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับอารมณ์และพฤติกรรมของลูกๆ วัยเยาว์ การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวไม่ได้อย่างใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้งอแง เอาแต่ใจตัวเอง พูดคุยเท่าไรก็ไม่ยอมรับฟัง ตรงกันข้ามกลับยิ่งโมโหร้าย กรีดร้องเสียงดัง ฉุดกระชากลากดึง ขว้างปาสิ่งของ หรือใช้มือเหวี่ยงไปตีทำร้ายคนรอบตัว
คุณพ่อคุณแม่แทบทุกคนย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับอารมณ์และพฤติกรรมของลูกๆ วัยเยาว์ การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวไม่ได้อย่างใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้งอแง เอาแต่ใจตัวเอง พูดคุยเท่าไรก็ไม่ยอมรับฟัง ตรงกันข้ามกลับยิ่งโมโหร้าย กรีดร้องเสียงดัง ฉุดกระชากลากดึง ขว้างปาสิ่งของ หรือใช้มือเหวี่ยงไปตีทำร้ายคนรอบตัว
คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อยู่ แนะนำให้ตั้งสติและทบทวนตัวเองก่อน แล้วเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ การที่เด็กดื้อและมักเอาแต่ใจตัวเองมักไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นความผิดของเด็ก (นอกจากมีปัญหาด้านพัฒนาการไม่สมวัย ควรปรึกษาคุณหมอ) แต่มาจากสภาพแวดล้อมและวิธีการเลี้ยงดูเป็นหลัก ถึงเวลาแล้วที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเริ่มต้นจากตัวเอง ปรับตัวและปรับอารมณ์ให้มั่นคง โดยใช้ 9 วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้
-
เข้าหาเด็กตามสถานการณ์ เด็กแต่ละคนมีการตอบสนองไม่เหมือนกันเมื่อมีอารมณ์หงุดหงิด บางคนต้องการการปลอบประโลมในทันที บางคนต้องการเวลาอยู่กับตัวเองสักพัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรคอยสังเกตดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าหาเด็กเพื่อบรรเทาความรู้สึกให้เด็กผ่อนคลายได้สอดคล้องกับสถานการณ์
-
ปลอบประโลมอย่างเหมาะสม โดยพื้นฐานของเด็กทุกคนต้องการความสนใจและความเอาใจใส่เสมอจึงไม่แนะนำให้เพิกเฉย การบรรเทาความรู้สึกสามารถทำได้ทั้งการพูดคุยปลอบประโลม สัมผัสเพื่อแสดงถึงความห่วงใย เบี่ยงเบนความสนใจ การฝึกกำหนดลมหายใจให้ใจเย็นลงก็ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
-
ควบคุมอารมณ์ให้ดี เมื่อเด็กแสดงความหงุดหงิดไม่พอใจ คุณพ่อคุณแม่ต่างก็รู้สึกเครียดและกดดันจึงตอบสนองด้วยความหงุดหงิดกลับคืนไป เด็กจะซึมซับสิ่งไม่ดีนี้และนำไปใช้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคง และตอบสนองเหตุการณ์อย่างใจเย็น
-
บอกให้รู้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สำคัญคือ การกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นไปได้ในครอบครัวว่ามีสิ่งใดบ้างที่ทำได้และมีอะไรบ้างที่ทำไม่ได้ เพื่อให้เด็กทราบแนวทางการแสดงออกที่ชัดเจน โดยจำเป็นต้องให้เวลากับเด็กค่อยๆ ฝึกฝนเรียนรู้ข้อปฏิบัติจนสามารถทำได้ตามที่คาดหวังและไม่ฝืนธรรมชาติของเด็ก
-
เป็นตัวอย่างที่ดี วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กๆ แสดงออกอย่างเหมาะสมตามที่คาดหวังคือ การเป็นตัวอย่างที่ดี หากไม่ต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งต่อหน้าและลับหลังเด็กๆ
-
เปิดพื้นที่สำหรับเด็กๆ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยตามแก้ไขปัญหา การหมั่นสังเกตพฤติกรรมและการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสพูดคุยบอกเล่าความพอใจหรือความไม่พอใจต่างๆสามารถช่วยป้องเกิดการพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี
-
พาหลีกเลี่ยงความเครียด ในเชิงป้องกันปัญหายังสามารถทำได้โดยการพาเด็กๆ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดความเครียด บ่อยครั้งที่เด็กรู้สึกหงุดหงิดจากผลการเรียนไม่ดี จำใจทำกิจกรรมที่ไม่ชอบหรือเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพยายามหาสาเหตุและช่วยลูกๆ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น เช่น พาไปเข้ากิจกรรมเสริมทักษะที่เด็กขาดอยู่ หรือหากิจกรรมที่เด็กน่าจะสนใจให้ทำก็จะช่วยปรับพฤติกรรมได้อีกทางหนึ่ง
-
ฝึกอารมณ์ผ่านการเล่น การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน นอกจากจะสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กๆ ด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจรายละเอียดในการเลือกสรรให้เด็กได้ฝึกทักษะการใช้เหตุผล ความอดทนและการควบคุมอารมณ์ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆเสมอ
-
ให้ความรักอย่างถูกวิธี สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กทุกคนคือการรับรู้ถึงความรักและความเอาใจใส่อย่างถูกวิธีจากคุณพ่อคุณแม่ ให้อย่างถูกวิธีคือ ไม่เอาอกเอาใจเกินพอดีหรือว่ากล่าวทำโทษเกินควร แต่ให้รับรู้ได้ว่าคอยอยู่ใกล้ชิดและเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้เสมอ ซึ่งทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีและมีจิตใจอ่อนโยน
ที่มา : mgronline โดย ดร.แพง ชินพงศ์ https://bit.ly/3UrhDIt