Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก (Parenting by lying) เมื่อพ่อแม่โกหกลูกด้วยความปรารถนาดี


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

30-11-2022 12:03

“ถ้าลูกยอมเขียนหน้านี้จนเสร็จ… คุณแม่จะพาไปทะเลนะ” คุณแม่ท่านหนึ่งกล่าวกับลูกน้อยวัย 3 ขวบ ที่กำลังงอแง ไม่ยอมทำกิจกรรม ในภายหลัง เมื่อคุณครูถามคุณแม่ไปว่า “มีแผนจะไปเที่ยวทะเลกันหรือคะ”คุณแม่หันมากระซิบกับคุณครูว่า “เปล่าค่ะ ไม่ได้จะพาไปหรอกค่ะ พูดให้ลูกยอมทำเฉย ๆ” คิดว่าคงจะมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่าน ที่เคยใช้วิธีที่คล้าย ๆ กันนี้ เพื่อหลอกล่อให้ลูกยอมทำตามที่บอก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเจตนาที่ดีของพ่อแม่ เพื่อตัวของลูก ๆ เอง

ภาพประกอบเคส

“ถ้าลูกยอมเขียนหน้านี้จนเสร็จ… คุณแม่จะพาไปทะเลนะ” คุณแม่ท่านหนึ่งกล่าวกับลูกน้อยวัย 3 ขวบ ที่กำลังงอแง ไม่ยอมทำกิจกรรม ในภายหลัง เมื่อคุณครูถามคุณแม่ไปว่า “มีแผนจะไปเที่ยวทะเลกันหรือคะ”คุณแม่หันมากระซิบกับคุณครูว่า “เปล่าค่ะ ไม่ได้จะพาไปหรอกค่ะ พูดให้ลูกยอมทำเฉย ๆ” คิดว่าคงจะมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่าน ที่เคยใช้วิธีที่คล้าย ๆ กันนี้ เพื่อหลอกล่อให้ลูกยอมทำตามที่บอก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเจตนาที่ดีของพ่อแม่ เพื่อตัวของลูก ๆ เอง

ในทางจิตวิทยาเราเรียกการโกหกลักษณะนี้ว่า “Parenting by lying” หรือ “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” เป็นหนึ่งในวิธีการสากลที่พ่อแม่ใช้กับลูกเลยก็ว่าได้

ประเภทของ “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” ที่พ่อแม่มักใช้กับลูก มีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่

  1. โกหกเพื่อให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างให้เสร็จ เช่น ถ้าทำการบ้านเสร็จ จะพาไปเที่ยวสวนสัตว์
  2. โกหกเพื่อความปลอดภัย เช่น เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับ
  3. โกหกเพื่อให้ลูกเป็นเด็กดี เช่น นั่งให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นคุณหมอจะมาฉีดยา
  4. โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงคำขอของลูก เช่น ของเล่นอันนี้เขายังไม่ขายนะ วันนี้ยังซื้อไม่ได้

สาเหตุหลักที่พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการโกหก เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ต้องอธิบายเยอะ และหลายครั้งก็ทำให้ลูกเชื่อฟังได้จริง ๆ แต่การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก ก็มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการโกหก

  1. ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่ เมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่โกหก เกิดเป็นความไม่เชื่อใจ หรืออาจไม่สนใจสิ่งที่พ่อแม่พูด และอาจพัฒนาไปเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูกได้อีกด้วย
  2. การโกหกเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่จะเป็นแบบอย่างให้ลูกว่าการโกหกหรือการไม่ทำตามสัญญาเป็นสิ่งที่ทำได้เพราะพ่อแม่ก็ทำ และเด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีจากสิ่งที่พ่อแม่ทำ มากกว่าสิ่งที่พ่อแม่พูด
  3. พัฒนาเป็นปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาทางใจ งานวิจัยพบว่า “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาลูกโกหกพ่อแม่ มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อต้านพ่อแม่ หรือปัญหาความวิตกกังวล ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเริ่มต้นมาจากการที่ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่ และมีความรู้สึกโกรธอยู่ในใจที่ถูกพ่อแม่โกหก

เพื่อหลีกเลี่ยง “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” พ่อแม่ควรทำอย่างไร

  1. ตั้งเงื่อนไขที่เกิดขึ้นได้จริง เช่น ถ้าบอกลูกว่า “ถ้าทำการบ้านเสร็จ จะพาไปสวนสัตว์” หากลูกทำการบ้านเสร็จจริง ๆ ก็ควรพาไปสวนสัตว์ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้าคิดว่าการไปสวนสัตว์ไม่สามารถทำได้ ก็ควรตั้งเงื่อนไขอื่นที่มีความเป็นไปได้
  2. อธิบายผลที่จะตามมาตามความเป็นจริง แทนที่จะโกหกให้เด็กเกิดความกลัวที่ไม่เป็นความจริง เช่น แทนที่จะโกหกว่า “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับ” พ่อแม่ควรอธิบายตามความจริงไปว่า “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ เดี๋ยวหลง”

การดูแลลูกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว บางกรณีพ่อแม่ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการบางอย่างเพื่อควบคุมพฤติกรรมของลูกน้อยให้ได้ผลโดยทันที อย่างไรก็ตามการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกได้เข้าใจผลที่จะตามมา ตามความเป็นจริง จะส่งผลดีต่อการเติบโตที่เหมาะสมเพื่อรักษาซึ่งความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดี และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในระยะยาว

ที่มา : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://bit.ly/3OFfSWK


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท