Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

มะเร็งปอด ไม่สูบก็เสี่ยง


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

15-11-2022 16:12

จากการแชร์เรื่องราวของอาจารย์แพทย์หนุ่มอนาคตไกล ที่พบว่าตนเองป่วยด้วยโรค “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมากยิ่งขึ้น เพราะแม้ว่าเราจะไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพอย่างดี เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้

ภาพประกอบเคส

จากการแชร์เรื่องราวของอาจารย์แพทย์หนุ่มอนาคตไกล ที่พบว่าตนเองป่วยด้วยโรค “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมากยิ่งขึ้น เพราะแม้ว่าเราจะไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพอย่างดี เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้

มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง

มะเร็งปอดมีอยู่ 2 ชนิด แบ่งออกตามขนาดของเซลล์ ซึ่งมีวิธีรักษาแตกต่างกัน คือ

  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
  2. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยประมาณ 85-90% แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ผู้ที่เคยเป็นวัณโรค หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่เพียงเท่านั้น หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้ แม้ไม่สูบบุหรี่

สัญญาณเตือนว่ากำลังเป็นมะเร็งปอด ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์

  • อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน
  • ไอมีเสมหะปนเลือด
  • หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • อ่อนเพลีย

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะ จึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาส การรักษาหายจากโรคน้อย

ทำอย่างไรให้ห่างไกลมะเร็งปอด

  1. หยุดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง เช่น สถานที่ที่มีฝุ่นควันมาก หรือหากทำงานบริเวณเหมืองแร่ก็ใช้เครื่องมือป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปภายนอกอาคาร หากทำงานในเหมืองแร่ก็ใส่เครื่องมือป้องกันตนเองช่วย
  3. อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
  4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  5. ออกกำลังกาย
  6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

ที่มา :
(1) กระทรวงสาธารณสุข https://bit.ly/3hE8WN6
(2) มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง https://bit.ly/3E6I3Jh
(3) BBC News https://bbc.in/3UT2dgx
(4) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://bit.ly/3TrL9x2


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท