Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เมื่อไหร่ที่ควรไปฝากครรภ์


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

15-11-2022 15:43

คุณแม่มือใหม่หลายๆ คน มักกังวลและสับสนว่าหลังจากรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์แล้วควรทำอะไรก่อน-หลังดี การฝากครรภ์จำเป็นหรือไม่ การดูแลรักษาสุขภาพของครรภ์ควรทำแบบไหน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ การฝากครรภ์จึงเป็นการดูแลรักษาสุขภาพของครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน จนคุณแม่คลอด โดยมีคุณหมอให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อแม่และเด็กที่จะเกิดใหม่เป็นอย่างมาก

ภาพประกอบเคส

คุณแม่มือใหม่หลายๆ คน มักกังวลและสับสนว่าหลังจากรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์แล้วควรทำอะไรก่อน-หลังดี การฝากครรภ์จำเป็นหรือไม่ การดูแลรักษาสุขภาพของครรภ์ควรทำแบบไหน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ การฝากครรภ์จึงเป็นการดูแลรักษาสุขภาพของครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน จนคุณแม่คลอด โดยมีคุณหมอให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อแม่และเด็กที่จะเกิดใหม่เป็นอย่างมาก

ฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี
ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าคุณแม่ควรไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 6-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่ท่านไหนที่มีความเสี่ยง เช่น ภาวะแท้ง มีโรคประจำตัว อาจนัดฝากครรภ์เร็วกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน

ฝากครรภ์ที่ไหนดี
ควรเลือกฝากครรภ์ในสถานพยาบาลที่มีความสะดวกในการเดินทาง แพทย์หรือพยาบาลฝากครรภ์มีความเชี่ยวชาญ มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่พร้อมในการดูแล มีมาตรฐานการบริการที่ดี ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครอบครัว

ฝากครรภ์ทำอะไรบ้าง
การไปฝากครรภ์ครั้งแรก อาจใช้เวลานานกว่าทุกครั้ง โดยแพทย์ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยทั่วไป สิ่งที่แพทย์มักจะทำคือ

  1. ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ โดยอาจตรวจปัสสาวะ หรือเจาะเลือด หรือการทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อวัดขนาดอายุครรภ์ ตรวจสุขภาพทารกโดยทั่วไป เช่น การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
  2. คำนวณอายุครรภ์ และวันกำหนดคลอด โดยปกติแพทย์จะใช้วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดมาคำนวณเพื่อหาอายุครรภ์ และวันกำหนดคลอด
  3. ซักประวัติ โรคประจำตัว ประวัติในอดีต ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า เพื่อดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ครั้งนี้หรือไม่
  4. ตรวจร่างกาย วัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต เพื่อใช้ในการติดตามตลอดการตั้งครรภ์
  5. ตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจความเข้มข้นของเลือด ตรวจการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้การฝากท้องครั้งแรกแพทย์อาจให้วิตามินบำรุง เช่น กรดโฟลิค หากคุณแม่ทาน Prenatal vitamins อยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องกินโฟลิคเพิ่ม โดยสามารถแจ้งคุณหมอเพื่อให้ทราบตอนฝากครรภ์ได้

ต้องไปพบแพทย์บ่อยแค่ไหน

  • อายุครรภ์ 1-32 สัปดาห์ พบแพทย์ทุก 4 สัปดาห์
  • อายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ พบแพทย์ทุก 2 สัปดาห์
  • อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ พบแพทย์ทุกอาทิตย์จนคลอด

ระหว่างฝากท้องต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

  1. หยุดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดทั้งหมด
  2. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
  3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ หรือกิจกรรมผาดโผนที่มีความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ
  4. หากคุณยังไม่ได้เริ่มกิน Prenatal vitamins ให้เริ่มกินทันที โดยเลือกวิตามินที่มีส่วนประกอบของกรดโฟลิค 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน และมีส่วนผสมของ DHA 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน
  5. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของดิบ อาหารไม่สุก อาหารหมักดอง
  6. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

ที่มา : สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย(สวท) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
https://bit.ly/3WTeXFX


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท