Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

หากการยอมรับความหลากหลายทางเพศในชุมชน LGBTQINs+ ด้วยกันเองยังคงเป็นปัญหา การเดินหน้าสู่ความเท่าเทียมทางเพศก็ยากที่จะเกิดรูปธรรม


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

07-11-2022 08:45

เมื่อราวๆ 2 เดือนก่อนที่ผู้เขียนจะจรดปากกาเขียนบทความนี้ (28 ต.ค.) สังคมไทยได้รับรู้ปรากฏการณ์ข่าวในสื่อ เรื่อง “ครูสาวข้ามเพศกระทำอนาจารนักเรียนหญิง” การพาดหัวข่าวเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งทั้งในมิติความละเอียดอ่อนของประเด็นและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของผู้กระทำ

ภาพประกอบเคส

เมื่อราวๆ 2 เดือนก่อนที่ผู้เขียนจะจรดปากกาเขียนบทความนี้ (28 ต.ค.) สังคมไทยได้รับรู้ปรากฏการณ์ข่าวในสื่อ เรื่อง “ครูสาวข้ามเพศกระทำอนาจารนักเรียนหญิง” การพาดหัวข่าวเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งทั้งในมิติความละเอียดอ่อนของประเด็นและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของผู้กระทำ

การกระทำอนาจาร ซึ่งวิถีทางหรือธรรมชาติของมันทำให้ผู้เขียนหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่ได้เลย โดยเฉพาะหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กไว้วางใจ และเป็นผู้มีสถานภาพอำนาจเหนือเด็ก ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เลยเถิดเกินไปไกลสำหรับกระแสสังคมที่มีต่อเรื่องนี้คือ การวิพากษ์วิจารณ์ว่าครูผู้นี้ เป็นผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Women) จริงหรือไม่?

ผู้เขียนมีโอกาสสำรวจความคิดเห็นที่ผู้คนในสังคมสื่อออกมา แน่นอนว่า ย่อมมีการวิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานา เช่น ครูคนนี้ปลอมเป็นกะเทยเพื่อแสวงหาโอกาสล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหญิงบ้าง หรือหนัก ๆ ก็ว่ากล่าวกันไปถึงเรื่องว่า กะเทยที่ยังไม่ผ่าตัดยืนยันเพศ (การศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศชายเป็นอวัยวะเพศหญิง และผู้เขียนขอเลิกใช้คำว่า “ผ่าตัดแปลงเพศ” นับแต่นี้ไป) ไม่ควรถือว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศ และเพราะยังมีสิ่งที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงจึงไม่ควรไว้ใจ ฯลฯ

ในสถานการณ์เช่นนี้ ความจริงคืออะไร? ผู้กระทำผิดคิดอย่างไร? สิ่งนั้นเราไม่อาจรู้ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนสามารถอธิบายได้คือ เพศสภาพ (Gender) กับวิถีทางเพศ (Sexual Orientation) ของบุคคลเป็นสิ่งที่หลากหลายและเลื่อนไหลได้มากกว่าที่สังคมยึดถือในระบบเพศแบบขั้วตรงข้าม (Binary) คือ มนุษย์เกิดมามีเพศสรีระแค่สองเพศและควรจะมีวิถีทางเพศทางธรรมชาติได้แค่ระหว่างชายและหญิงเท่านั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยโดยภาพรวมจะเข้าใจภาพเหมารวมพฤติกรรมทางเพศที่สังคมไทยยอมรับและเข้าใจคือ ผู้ชายและผู้หญิงต้องมีความฝักใฝ่หรือใคร่ทางเพศระหว่างกัน หากพอจะเป็นที่ยอมรับได้ของสังคม ผู้หญิงที่ไม่ฝักใฝ่หรือมีความใคร่ทางเพศกับผู้ชาย (โดยเพศกำเนิดและเพศสภาพ) จะต้องฝักใฝ่ทางเพศกับผู้หญิงโดยเพศสภาพด้วยกัน หรือฝักใฝ่ทางเพศกับผู้ชายข้ามเพศ (Trans Man) ในทัศนะของผู้เขียนแล้วสิ่งเหล่านี้คือความเข้าใจที่ผิด ซึ่งจำเป็นต้องชักชวนให้ทุกคนกลับมาตั้งหลักทำความเข้าใจกันใหม่

บนโลกความจริง มีผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมาก ที่ไม่ได้มีความปรารถนาทางเพศกับผู้ชาย และไม่ใช่ว่าชายที่มีเพศสภาพตรงเพศกำเนิดทุกคนจะต้องฝักใฝ่ทางเพศแต่กับเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด เพราะมนุษย์มีความหลากหลายในอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และวิถีทางเพศ (Sexual Orientation ) อีกมากมายบนโลกนี้ที่ผู้เขียนไม่สามรถบรรยายได้หมด การพยายามบีบบังคับให้บุคคลต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือยืนยันเพศสภาพของบุคคล หรือที่ศัพท์แสงวิชาการด้านเพศวิถีเรียกการ“Outing” (ผู้เขียนขออภัยที่ยังไม่สามารถหาคำนิยามในภาษาไทยได้) ถือเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลรูปแบบหนึ่ง และมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิในเรื่องการนิยามเพศสภาพของบุคคลที่แตกต่างไปจากสำนึกการรับรู้จริงของบุคคลผู้นั้น หรือเรียกว่าการ Misgender พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การเรียกเพศสภาพของบุคคลแบบผิด ๆ

ผู้เขียนเองก็พยายามเข้าใจว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปไม่ได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง ย่อมจะติดกับดักต่อชุดความคิดระบบสองเพศสรีระ สองเพศสภาพ และหนึ่งเพศวิถีและยังคงเชื่อเรื่องความเป็นขั้วตรงข้ามในโลกทัศน์แบบเดิม ๆ

แต่วันนี้สิ่งที่ผู้เขียนให้น้ำหนักเมื่อกล่าวถึงความกังวลใจมากกว่า คือการที่ในชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มต่างๆเอง แสดงความรังเกียจไปจนถึงเบียดขับบุคคลที่มีหลากหลายและซับซ้อนในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและวิถีทางเพศของตนออกจากพื้นที่ปลอดภัยของชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ชุมชนผู้มีสำนึกทางเพศเป็นนอนไบนารี(Non-binary) ถูกเบียดขับออกจากชุมชนของหญิงรักหญิง (Lesbian) ด้วยเหตุผลเช่น เคยมีความสัมพันธ์กับเพศชายมาก่อน บางคนก็ถูกเบียดขับออกมาจากชุมชนชายรักชาย(Gay) เพียงเพราะเรื่องของเพศวิถีที่ไม่อยู่ในอุดมคติความคิดแบบBinary

รวมไปถึงปัญหาของบุคคลที่เกิดมามีเพศสรีระหรืออวัยวะเพศกำกวมแต่กำเนิด(โดยส่วนตัว ผู้เขียนไม่ชอบคำว่า “กำกวม” แต่ยังหาศัพท์ทางวิชาการที่ดีกว่านี้ไม่ได้) ในทางสากลเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า Intersex ซึ่งมักถูกผู้ปกครองทำการตัดสินใจให้แพทย์ทำการผ่าตัดเลือกอวัยวะเพศตามที่ผู้ปกครองต้องการก่อนที่เด็กผู้นั้นต้องเติบโตและรับรู้สำนึกทางเพศของตน ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้ปกครองเลือกมาให้ การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง ทั้งปัญหาด้านสุขภาพกายและจิตใจ

เราไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่าโลกของเรามีความหลากหลายทางเพศ แต่ความหลากหลายทางเพศที่ผู้เขียนบรรยายมานี้ไม่ใช่แนวคิดของสังคมกระแสหลัก พวกเขายังชื่อว่าเพศชายกับเพศหญิงเป็นบุคคลที่เป็นเพศหลัก (Majority Poplulation)ของโลกนอกจากจะผลักให้คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และเพศวิถีอื่นกลายเป็นบุคคล “เพศทางเลือก” แล้ว ยังมีการเบียดขับ กีดกัน แบ่งแยกระหว่างคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันอีกมากมาย ตั้งแต่เหตุผลเรื่องของการที่บุคคลไม่เข้ารับการผ่าตัดยืนยันเพศ เพื่อให้มีเพศสภาพตรงกับสิ่งที่บุคคลผู้นั้นยืนยันว่าตนเองเป็นก็ดี ด้วยเหตุผลเรื่องประวัติความสัมพันธ์ทางเพศในอดีตก็ดี หรือการดำรงชีวิตโดยไม่แสดงออกทางเพศให้ตรงกับบทบาทในอุดมคติของระบบเพศก็ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับบุคคลที่ถูกกีดกันทั้งสิ้น และมากกว่าบาดแผลทางจิตใจคือ การไม่ยอมรับในความดำรงอยู่ของเพศสภาพต่าง ๆที่มีความหลากหลาย เลื่อนไหล ย่อมกระทบต่อสิทธิในด้านนโยบาย กฎหมาย รวมถึงการได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นคือ การตระหนักรู้ว่าเพศบนโลกใบนี้มีความหลากหลายมากกว่าการต้องบังคับให้บุคคลมีตัวตนอยู่ในระบบเพศขั้วตรงข้าม อย่างน้อยที่สุด คุณอาจไม่จำเป็นต้องรู้จักว่า สำนึกทางเพศกว่า 40 รูปแบบภายใต้ร่มธงของบุคคลนอนไบนารี(Non-Binary) ว่ามีอะไรบ้างและพวกเขาเป็นอย่างไร แต่ขอให้รับรู้ถึงการมีอยู่ และตระหนักรู้ว่าเป็นหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องเคารพในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ รวมไปถึงวิถีทางเพศของบุคคลนั้น ๆโดยไม่พยายามตีกรอบ กีดกัน หรือบังคับให้ต้องเลือกเป็นตามแบบที่ตนคิด

สำหรับการพัฒนากฎหมาย นโยบาย ในอนาคตที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนเองคาดหวังว่า บุคคลทุกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและเพศวิถีจะต้องมีตัวตนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแม้จำเป็นต้องรื้อระบบกฎหมายทั้งระบบที่รับใช้ระบบสังคม2เพศ ผู้เขียนขอยืนยันว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำและเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากสะท้อนมุมเชิงเปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าโลกใบนี้มีสีมากมายหลากหลายร้อยสี แม้แต่สีที่เป็นแม่สียังมีโทนที่ต่างกัน และสีต่างๆยังสามารถผสมผสานเป็นสีอื่นๆได้อีกฉันท์ใด ความหลากหลายทางเพศก็มีได้หลากหลายมากมายกว่าเพียงตัวอักษร LGBTQINs+ ฉันท์นั้น

บทความโดย : วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท