Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

แผลร้อนใน เหตุใดจึงต้องเป็น


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

21-10-2022 09:48

แผลร้อนใน คือ แผลที่เยื่อบุผิวปาก มักพบที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก มีอาการเจ็บมาก

ภาพประกอบเคส

แผลร้อนใน คือ แผลที่เยื่อบุผิวปาก มักพบที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก มีอาการเจ็บมาก โดยจะเกิดเป็นจุดแดงหรือตุ่ม ต่อมาจะกลายเป็นแผลเปิด ลักษณะเป็นวงกลม หรือวงรี ตรงกลางมีสีเหลือง ขอบแผลสีแดง อาจเกิดเพียงหนึ่งหรือหลายจุดในปากก็ได้ พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น ถึงวัยหนุ่มสาว โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยทั่วไปแผลร้อนในมักหายเองภายใน 2 สัปดาห์

แผลร้อนในมี 3 แบบ ได้แก่

  • แผลขนาดเล็ก พบบ่อยทีสุด ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมักหายได้เอง
  • แผลขนาดใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร
  • แผลแบบชนิดกลุ่ม โดยแผลมักมีขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตรและมักมีแผลรวมกันเป็นกลุ่ม

สาเหตุของแผลร้อนใน อาจมีปัจจัยกระตุ้น ดังนี้

  • เกิดจากการบาดเจ็บ เช่น การกัด การแปรงฟัน อุปกรณ์ในช่องปาก (อุปกรณ์จัดฟัน) โดนเนื้อเยื่อในช่องปาก
  • การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมถึงความเครียดที่เกิดจากอารมณ์ ความกังวล และสิ่งแวดล้อม
  • แพ้อาหาร เช่น ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี่ ถั่ว ชีส
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน
  • ขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี12 ธาตุเหล็ก หรือสังกะสี
  • การกินยาบางชนิด เช่น NSAIDs (หรือกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์)
  • พันธุกรรม

ถ้าเป็นแผลร้อนในต้องทำอย่างไร

  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ขนมหวานที่เหนียว และแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แผลรุนแรงมากขึ้น
  • ใช้หลอดดูดน้ำแทนการดื่มน้ำจากแก้ว เพื่อเลี่ยงไม่ให้น้ำสัมผัสแผลโดยตรง
  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม ถ้าใช้ยาสีฟันที่ผสมมิ้นต์จะทำให้แสบแผล ควรเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันเด็กในช่วงที่เป็นแผลร้อนใน
  • ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2 – 3 ครั้ง
  • ในกรณีที่แผลมีอาการรุนแรงใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ป้ายบริเวณแผล จะลดอาการเจ็บและอักเสบ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ถ้าแผลไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์

แผลร้อนในป้องกันได้

  • นอนหลับผักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
  • ทานผักผลไม้ที่มีกากใย เลี่ยงของทอด อาหารมัน และอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน
  • ดื่มน้ำมาก ๆ และควรเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง ไม่ควรดื่มน้ำเย็น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • ใช้ยาลดการอักเสบ ยาลดปวด และยาทาแผลร้อนใน
  • รักษาตามสาเหตุจากโรคที่เป็น เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบ
  • ควรพบแพทย์ เมื่อแผลมีขนาดใหญ่ลุกลาม หายช้า จนไม่สามารถกินอาหารได้หรือสงสัยโรคอื่น

ที่มา :
1.คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี https://bit.ly/3rZJROA
2.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล https://bit.ly/3S3uuiv


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท