โรควิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่น
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
21-10-2022 09:18
โรควิตกกังวลในเด็ก พบมากในเด็กเล็ก เด็กอาจพบกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น เปิดเรียนใหม่ ใกล้สอบ หรือต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียน การที่พ่อแม่ใช้คำพูดเชิงขู่ให้กลัว เด็กจะมีอาการตื่นเต้น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกกลัวหรือกังวล ซึ่งเป็นภาวะปรกติที่พบได้ในคนทั่วไป
โรควิตกกังวลในเด็ก พบมากในเด็กเล็ก เด็กอาจพบกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น เปิดเรียนใหม่ ใกล้สอบ หรือต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียน การที่พ่อแม่ใช้คำพูดเชิงขู่ให้กลัว เด็กจะมีอาการตื่นเต้น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกกลัวหรือกังวล ซึ่งเป็นภาวะปรกติที่พบได้ในคนทั่วไป
สาเหตุ มีทั้งปัจจัยที่เกิดพันธุกรรม และปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเลี้ยงดู เกิดจากการที่ผู้ปกครองชอบพูดขู่ให้เด็กกลัว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากภาวะความผิดปกติของสารในสมองบางตัวผิดปกติไป ทั้งนี้การที่พ่อแม่ทะเลาะหรือการแสดงอารมณ์โมโหต่อหน้าลูก ก็เป็นสาเหตุให้ลูกเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความสุข และอาจเป็นพื้นฐานทำให้เด็กป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
อาการวิตกกังวล มักจะหายไปเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านลุล่วงไปแล้ว แต่หากความคิดกลัว กังวลซ้ำๆเหล่านี้ไม่หายไป หรือมีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติ จนมีผลกระทบกับชีวิต เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่สามารถเรียนได้อย่างเคย สมาธิในการทำงานเสียไป ความสัมพันธ์กับเพื่อนแย่ลง มีอาการปวดหัว ปวดท้องบ่อยๆ อาจเป็นความผิดปรกติในกลุ่มโรควิตกกังวลในเด็กได้
อาการของโรค
- อาการทางร่างกาย : เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจเร็ว ปวดท้อง แน่นหน้าอก ปวดหัว นอนไม่หลับ
- อาการทางใจ : หงุดหงิด ตกใจง่าย อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ กังวลใจในการทำกิจกรรมต่างๆ การพูดหน้าชั้นเรียน การแยกจากพ่อแม่ หรือเรื่องความปลอดภัย การนอนไม่หลับ นอนฝันร้ายบ่อย ๆ ถามย้ำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ
การรักษาโรควิตกกังวลในเด็ก
การรักษาอาจประกอบด้วย การให้คำแนะนำเบื้องต้น การทำจิตบำบัดโดยวิธีปรับความคิดและพฤติกรรมบำบัด ให้เด็กได้ผ่อนคลายความเครียด และอาจมีการใช้ยาร่วมด้วยในบางรายที่อาการมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก
ดูแลตนเองเบื้องต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที
- เด็กควรนอนหลับพักผ่อนวันละ 9-10 ชั่วโมง
- ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ นับ 1-10 การฝึกสมาธิ เดินจงกรม การฝึกโยคะ เป็นต้น ควรฝึกอย่างสม่ำเสมอวันละ 10-15 นาที
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา ชาเขียว กาแฟ
พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งในการปรับความคิดพฤติกรรม เมื่อไหร่ที่ลูกเริ่มมีอาการวิตกกังวลหรือกลัว พ่อแม่ควรให้กำลังใจ ฝึกให้ลูกค่อย ๆ เผชิญกับสิ่งนั้นที่ละน้อยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาคำแนะนำที่จะเผชิญกับโรควิตกกังวลในเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรรู้วิธีเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับวัย เข้าใจเรื่องภาวะปกติของเด็กต่อการเผชิญสิ่งที่กลัวด้วย
ที่มา :
1.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) https://bit.ly/3g14IOE
2.โรควิตกกังวลในเด็ก MahidolChannel https://bit.ly/3CBSkfQ