ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
14-03-2022 10:32
ในช่วงนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงร้อน เย็น สลับกับฝนตก ประชาชนจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก ควรระมัดระวังโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเป็นพิเศษ อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่
ในช่วงนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงร้อน เย็น สลับกับฝนตก ประชาชนจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก ควรระมัดระวังโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเป็นพิเศษ อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza virus) สามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด คือ A (H1N1) (H3N2) รองลงมาคือชนิด B และ C สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย
การแพร่ติดต่อของเชื้อ
แพร่เชื้อผ่านการไอ จาม รดกัน หรือได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก
อาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่
หลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ ในกลุ่มเด็กอาจพบอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง บางรายสามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน หรือหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที
สิ่งสำคัญคือการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาลและยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
- ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง และควรใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ ถูมือให้ทั่วก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เว้นระยะห่างระหว่างจากผู้อื่น
- เมื่อมีอาการป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
หลักการปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ลดความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ และโรคโควิด 19
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/171279