แนวทางการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้แจ่มใส
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
11-10-2022 09:12
ผู้สูงอายุเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจจนอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา แต่หากลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ทุเลาลง นำมาซึ่งความสุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัวต่อไป
ผู้สูงอายุเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจจนอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา แต่หากลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ทุเลาลง นำมาซึ่งความสุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัวต่อไป
แนวทางการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้แจ่มใส
- ให้ความรักและความอบอุ่น หมั่นพูดคุย ใกล้ชิด ให้ความรัก ความอบอุ่น สร้างเสียงหัวเราะ หาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจ มีคุณค่าและมีความสำคัญ
- ให้เกียรติ ระมัดระวังคำพูดและท่าทางที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ ไม่แสดงความรำคาญ ไม่ต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือจับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ผู้สูงอายุจะดื้อหรือเอาแต่ใจ
- ส่งเสริมให้เกิดความสงบภายใน ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ ผ่อนคลาย และปล่อยวาง สามารถปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ผ่านการควบคุมลมหายใจ ฝึกคิดอย่างยืดหยุ่นและคิดแง่บวก
- ส่งเสริมความมีคุณค่าในตนเอง สร้างความภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตนเอง โดยอาจปล่อยผู้สูงอายุพยายามช่วยเหลือตนเองในเรื่องง่าย ๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน หรืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เกินกำลังและไม่เป็นอันตราย
- ฝึกระบบความคิด ส่งเสริมความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ การฝึก การวางแผน และการแก้ไขปัญหาเพื่อชะลอความเสื่อมของสมอง ฝึกการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ
- ส่งเสริมการเข้าสังคม รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือกลุ่มวัยอื่น ๆ เพื่อพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกผ่อนคลาย ลดปัญหาการเก็บตัวหรือปลีกวิเวกจากสังคม
- ผ่อนคลาย ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการเพื่อความรู้สึกสนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายและลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
- ฝึกสมอง เล่นเกมที่ช่วยฝึกฝนด้านความจำหรือฝึกสมองได้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา การจัดลำดับความคิด เช่น หมากรุก อักษรไขว้ ต่อคำ ต่อเพลง คิดเลข หรือการจดจำข้อมูลต่าง ๆ เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น
- เป็นที่ปรึกษา สังเกตปัญหาและรับฟังความต้องการของผู้สูงอายุ หมั่นสอบถามสารทุกข์สุขดิบเสมอ แสดงความเห็นใจ เข้าใจ รับฟัง และให้ผู้สูงอายุได้ระบายความรู้สึก ร่วมกันหาแนวทางในการปรับตัวกับปัญหา
- ส่งเสริมการออกกำลังกาย ให้แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลังวังชา สามารถตอบสนองความต้องการทางกายภาพได้อย่างเหมาะสมผ่านการฝึกกายบริหาร โยคะ รำมวยจีน หรือการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ ที่เหมาะสมวันละ 15-30 นาที
ที่มา : กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
https://www.dop.go.th/th/know/15/413