Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เรื่องต้องรู้ก่อน “ถือศีลกินเจ”


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

27-09-2022 12:33

หลาย ๆ คนคงจะเริ่มล้างท้องเพื่อเตรียมเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจแล้ว แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจะเคยกินเจปีนี้เป็นปีแรก อาจยังไม่รู้รายระเอียดเกี่ยวกับข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติเท่าไรนัก ดังนั้นเพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลกินเจ เราได้รวบรวมรายละเอียดและเรื่องที่ต้องรู้ก่อนถือศีลกินเจมาฝากกัน

ภาพประกอบเคส

หลาย ๆ คนคงจะเริ่มล้างท้องเพื่อเตรียมเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจแล้ว แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจะเคยกินเจปีนี้เป็นปีแรก อาจยังไม่รู้รายระเอียดเกี่ยวกับข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติเท่าไรนัก ดังนั้นเพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลกินเจ เราได้รวบรวมรายละเอียดและเรื่องที่ต้องรู้ก่อนถือศีลกินเจมาฝากกัน ดังนี้

1. ข้อห้ามเมื่อต้องถือศีลกินเจ
การถือศีลกินเจนั้นมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายอย่าง เช่น งดเว้นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ งดเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุ้ยช่าย ใบยาสูบ เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อว่าผักที่มีกลิ่นฉุนจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ที่ถือศีลกินเจทำให้มีจิตใจเร่าร้อน ขัดขวางการรักษาศีล นอกจากนี้ยังต้องงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมาทุกชนิด และเน้นอาหารรสชาติอ่อน ๆ ไม่เปรี้ยวจัด เค็มจัด ไม่ปรุงแต่งรสชาติมากเกินไป เพื่อให้ดีต่อสุขภาพร่างกาย ฝึกให้จิตใจให้ไม่ยึดติดเช่นเดียวกับการบำเพ็ญรักษาศีล

2. กินเจอย่างไรให้ไม่อ้วน
จริง ๆ แล้วการกินอาหารเจนั้นดีต่อสุขภาพ หากเลือกกินอย่างถูกต้อง โดยเน้นอาหารจากธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ เต้าหู้ หรืออาหารที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด แต่อาหารเจในปัจจุบันมักจะปรับให้มีรสชาติที่อร่อยขึ้นเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภททอด ผัด ที่ใช้น้ำมันเยอะ และปรุงรสชาติให้มีความเค็มมากขึ้น ไม่จืดเหมือนอาหารเจในอดีตที่เน้นรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบ อีกทั้งอาหารเจส่วนใหญ่มีส่วนผสมของแป้งเป็นหลัก จึงทำให้หิวบ่อยเพราะคาร์โบไฮเดรตนั้นย่อยง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกินเจน้ำหนักขึ้นเพราะร่างกายได้รับพลังงานและโซเดียมมากเกิน

3.ใครสามารถกินเจได้บ้าง
การกินเจสามารถกินได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะมีข้อจำกัดสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารควบถ้วนในการเจริญเติบโต อีกทั้งยังต้องระวังในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง เพราะกลุ่มอาหารเจที่เป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง นอกจากนี้อาหารเจจะมีความมันและโซเดียมสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังจึงไม่เหมาะจะบริโภคอาหารเจเป็นเวลานาน

4.กินเจแตกต่างจากกินมังสวิรัติอย่างไร
มังสวิรัติแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ มังสวิรัติแบบไม่เคร่งครัดที่สามารถบริโภคนมและไข่ได้ ส่วนอีกประเภทคือมังสวิรัติแบบเคร่งครัด ซึ่งจะมีความคล้ายกับการกินเจตรงที่งดเว้นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหมือนกัน แต่มังสวิรัติจะสามารถนำผักทุกชนิดมาปรุงได้ ในขณะที่อาหารเจมีการปรุงอาหารที่เข้มงวดกว่า เช่น งดผักที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงยังต้องรักษาศีลให้จิตใจบริสุทธิ์ด้วย

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/vegetarian-festival/


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท