Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

คนท้องกับ 5 อาการที่พบบ่อย


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

27-09-2022 11:40

เมื่อผู้หญิงแต่ละคนเริ่มตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกจะมีการแสดงออกของอาการทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการแสดงออกของระบบการป้องกันทารกในครรภ์ให้เติบโตขึ้นได้โดยปราศจากอันตราย ซึ่งคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก หรือคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วก็จะมีอาการในขณะตั้งท้องที่ต่างกันแต่ก็มีอาการที่คล้ายคลึงกัน

ภาพประกอบเคส

เมื่อผู้หญิงแต่ละคนเริ่มตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกจะมีการแสดงออกของอาการทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการแสดงออกของระบบการป้องกันทารกในครรภ์ให้เติบโตขึ้นได้โดยปราศจากอันตราย ซึ่งคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก หรือคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วก็จะมีอาการในขณะตั้งท้องที่ต่างกันแต่ก็มีอาการที่คล้ายคลึงกัน

ในขณะที่มีอุปกรณ์ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองและการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจครรภ์ที่ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ก็มีสัญญาณอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 หรือบางคนอาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้

1. ขาดประจำเดือน
หลังจากการฝังตัวของไข่ภายในมดลูก ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า Human Chorionic Gonagotropin (hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ส่งผลให้รังไข่หยุดการตกไข่ไปชั่วคราวในระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้ไม่มีประจำเดือน โดยระยะนี้สามารถตรวจสอบการตั้งครรภ์ได้ด้วยอุปกรณ์ตรวจระดับฮอร์โมน hCG

2. มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์หากมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นหยดแต่มีปริมาณไม่มากในระหว่าง 1-4 สัปดาห์ เป็นผลมาจากการฝังตัวของตัวอ่อนที่กำลังจะเจริญเติบโตหรือเรียกว่า ระยะบลาสโตซิสท์ ซึ่งจะเป็นกระบวนการสร้างอวัยวะของตัวอ่อน ส่งผลให้ระยะนี้มีเลือดออกมาปริมาณน้อยและไม่มีอาการปวดท้อง เลือดที่อออกมาในระยะนี้เกิดขึ้นจากหลอดเลือดเล็กๆ ในโพรงมดลูกแตกออกเนื่องจากการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้เลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นสีจางๆ ซึ่งคนโบราณมักจะเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก และจะไม่มีผลกระทบกับทารกในครรภ์

3. มีอาการอ่อนเพลีย
คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการอ่อนเพลียและเป็นตะคริวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และจะมีความเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษในช่วงช่วงสัปดาห์แรก เนื่องจากหลอดเลือดเกิดการหย่อนตัวทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำลงเป็นระยะและมดลูกก็ต้องการเลือดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดและอ่อนเพลียง่าย

4. ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
เมื่อตั้งครรภ์ระบบการได้กลิ่นของแม่จะมีความรวดเร็วและสามารถได้กลิ่นจากในระยะไกลกว่าเดิม นอกจากการได้กลิ่นแล้วยังส่งผลให้แม่มีความอยากกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาจจะอยากกินของกินที่ไม่ชอบกิน ของที่มีรสชาติแปลกไปจากที่กินปกติ เช่น ของเปรี้ยว ของหมักดอง เป็นต้น

5. มีอาการแพ้ท้อง
ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเป็นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจถึงขั้นกินอาหารไม่ได้ โดยมีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากกลไกในร่างกายของแม่ที่ป้องกันไม่ให้กินอาหารมากเกินไปจนทำให้เกิดสิ่งที่เป็นพิษต่อตัวทารกในระหว่างการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในช่วงแรก บางรายมีการแพ้ท้องมากผิดปกติ คือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหนัก จนไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำได้จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและระดับเกลือแร่ในเลือดลดลง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ได้ ควรไปพบแพทย์ทันที

สำหรับคุณแม่บางคนจะพบว่าตนเองนั้นไม่มีอาการแพ้ท้องเลย นั่นไม่ได้หมายความว่าการตั้งครรภ์มีการผิดปกติแต่อย่างใด และไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

ที่มา : กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/sign-for-pregnancy


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท