Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

20-09-2022 15:33

ผิวหนังของคนเราเป็นด่านแรกที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ เมื่อใดที่มีปัจจัยให้ผิวหนังของเราอ่อนแอลง จะทำให้เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าสู่ผิวหนัง และก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้

ภาพประกอบเคส

ผิวหนังของคนเราเป็นด่านแรกที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ เมื่อใดที่มีปัจจัยให้ผิวหนังของเราอ่อนแอลง จะทำให้เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าสู่ผิวหนัง และก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้

โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย แบ่งเป็น 5 กลุ่มโรคใหญ่ๆ เรียงตามความลึก และตำแหน่งของการอักเสบ ดังนี้

  1. โรคพุพอง (Impetigo) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นหนังกำพร้า พบได้บ่อยในเด็ก อาจเป็นชนิดที่พบตุ่มน้ำร่วมหรือไม่พบก็ได้ อาการเริ่มแรกจะมีตุ่มสีแดงบริเวณใบหน้า หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ระยะถัดมาตุ่มจะแตกออก และพบเป็นรอยถลอกตื้นๆ ที่มีสะเก็ดหนองสีเหลืองอมน้ำตาล คล้ายสี “น้ำผึ้ง” คลุมอยู่ด้านบน ในบางรายอาจจะมีอาการไข้หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้

  2. โรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis), ฝี (Furuncle/abscess), และ ฝีฝักบัว (Carbuncle) เป็นการอักเสบของรูขุมขน ลักษณะเป็นตุ่มสีแดง หรือตุ่มหนองขึ้นที่ตำแหน่งของรูขุมขน พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า(แถวเครา), ศีรษะ, หน้าอก, หลัง, รักแร้, และ แก้มก้น เป็นต้น ซึ่งถ้าการอักเสบรุนแรง และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง อาจพบเป็นไตแข็งๆ ที่มีหนองสะสมอยู่ภายในเรียกว่า ฝี และหากพบฝีหลายๆ อันอยู่รวมกลุ่มกันโดยมีช่องทางเชื่อมต่อกัน เราจะเรียกรอยโรคนี้ว่า ฝีฝักบัว ผู้ป่วยจะมีอาการไข้, อ่อนเพลีย, หรือ ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ โรคในกลุ่มนี้หายช้า และมักจะทิ้งรอยแผลเป็น

  3. โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) เป็นการอักเสบที่ส่วนบนของผิวหนังชั้นแท้ ซึ่งอาการจะแสดงออกมาหลังได้รับเชื้อ 2 - 5 วัน เริ่มด้วยอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ในมีกี่ชั่วโมงถึงวันถัดมา จะพบอาการผื่นแดงเป็นปื้น บวม กดเจ็บ เป็นขอบเขตชัด และลามอย่างรวดเร็ว พบบ่อยที่สุดคือ ขา รองลงมาคือ ใบหน้า พบร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต

  4. โรคเนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการอักเสบที่ส่วนล่างของผิวหนังชั้นแท้จนถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย ร่วมกับมีผื่น บวม แดง ร้อน ขอบเขตไม่ชัดและมีอาการปวด ผื่นสามารถลามขยายขนาดออกกว้างขึ้นแต่ไม่เร็วเท่ากับโรคไฟลามทุ่ง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และกรวยไตอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบกลับมาเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของระบบท่อน้ำเหลืองทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาบวมเรื้อรังได้

  5. โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า (necrotizing fasciitis) เป็นโรคที่ความรุนแรงสูงที่สุดในกลุ่มการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20 - 60 เป็นการอักเสบรุนแรงในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และพังผืดที่คลุมกล้ามเนื้อ จนเกิดภาวะเนื้อตายตามมาถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบมาพบแพทย์และให้การรักษาโดยเร็ว

ข้อควรปฏิบัติ

  1. การรักษาหลักเป็นการให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
  2. ทำความสะอาดผิวหนังและบริเวณที่เป็นแผลให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อให้สะอาด
  3. หลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังและอาจทำให้เชื้อโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น
  4. การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การกรีดระบายหนอง การประคบแผลด้วยน้ำเกลือดูดซับน้ำเหลืองออก

โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง จัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย แต่หากเราหมั่นดูแลรักษาสุขอนามัย รักษาความสะอาดของร่างกาย หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าโดยไม่สวมรองเท้า รวมถึงการตัดเล็บให้สั้น ตรวจสอบเท้ารวมถึงผิวหนังของตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามีแผลให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดพร้อมทั้งทำแผลอย่างถูกต้อง ถ้ามีผื่นโรคผิวหนังอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาเพราะรอยโรคดังกล่าวอาจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปก่อโรคยังผิวหนังได้

ที่มา : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178699/


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท