Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เลี้ยงลูกอย่างไร…ไม่ให้ทุกข์ใจในภายหลัง


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

20-09-2022 15:01

พ่อแม่ทุกคนต่างต้องการให้ลูก ๆ ของตนเติบโตเป็นคนดี มีความสุข มีคุณธรรม แล้วเราจะเลี้ยงดูเด็กให้เป็นอย่างที่คาดหวังได้อย่างไร ความจริงแล้ววิธีการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดไม่จำเป็นต้องอาศัยการอบรมในคอร์สที่แพง หรือหนังสือวิชาการอะไรมากมาย เราสามารถเรียนรู้ได้จากการถ่ายทอดความรู้ของผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ภาพประกอบเคส

พ่อแม่ทุกคนต่างต้องการให้ลูก ๆ ของตนเติบโตเป็นคนดี มีความสุข มีคุณธรรม แล้วเราจะเลี้ยงดูเด็กให้เป็นอย่างที่คาดหวังได้อย่างไร ความจริงแล้ววิธีการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดไม่จำเป็นต้องอาศัยการอบรมในคอร์สที่แพง หรือหนังสือวิชาการอะไรมากมาย เราสามารถเรียนรู้ได้จากการถ่ายทอดความรู้ของผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

จากบทความเรื่อง โศกนาฏกรรมเงียบ (A silent tragedy) โดย ดร.หลุยส์ โรจาส มาร์กอส (Luis Rojas Marcos) จิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงของอเมริกาและเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการการแพทย์แห่งรัฐนิวยอร์ก ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูก ดังนี้

แนวทางเลี้ยงดูลูกหลานเพื่อไม่ให้ต้องมานั่งทุกข์ใจกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้นในภายหลังไว้

  1. กำหนด จำกัดขอบเขตการกระทำของลูกหลาน และจำไว้ว่าคุณเป็นกัปตันเรือ ลูกของคุณจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่าคุณสามารถควบคุมหางเสือหรือทิศทางของเรือได้
  2. ดูแลให้ลูกหลานมีวิถีการดำเนินชีวิตที่สมดุล ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่จำเป็นต่อเด็ก ไม่ใช่แค่สิ่งที่พวกเขาต้องการ อย่ากลัวที่จะพูดว่า “ไม่” กับลูก หลาน ถ้าสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น
  3. ดูแลให้ลูกหลานได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และจำกัดการรับประทานอาหารขยะ
  4. ดูแลให้ลูกหลานใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การปั่นจักรยาน การเดิน การดูนก/แมลงฯลฯ
  5. พยายามให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขกับการรับประทานอาหารมื้อเย็นร่วมกันทุกวัน โดยไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่มีสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
  6. ชักชวนลูกหลานเล่นเกมกระดานร่วมกันภายในครอบครัวหรือถ้าเด็กยังเล็กมากสำหรับเกมกระดานก็ให้เล่นกับเด็ก
  7. ฝึกให้ลูกหลานของคุณมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับวัย (พับเสื้อผ้า แขวนเสื้อผ้า จัดเตรียมอาหาร จัดโต๊ะ ให้อาหารสุนัข ฯลฯ)
  8. ฝึกลูกหลานเข้านอนตรงเวลาจนเป็นกิจวัตร เพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ การกำหนดตารางเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับเด็กในวัยเรียน
  9. สอนลูกหลานให้มีความรับผิดชอบและพึ่งพาตนเอง อย่าปกป้องพวกเด็ก ๆ มากเกินไปจากความผิดหวัง ความไม่พอใจ ความเสียใจ หรือความผิดพลาดทั้งหมด เพราะความผิดพลาดจะช่วยให้พวกเขามีความยืดหยุ่นและเรียนรู้ที่จะเอาชนะความท้าทายในชีวิตของตนเอง
  10. อย่าถือเป้ หรือสัมภาระต่าง ๆ ให้ลูกหลาน อย่าทำการบ้านให้หากเด็กลืมทำ อย่าปอกกล้วยหรือปอกส้มหากเด็กสามารถทำเองได้ นั่นคือแทนที่จะให้ปลากับเด็กควรสอนให้เด็กจับปลาด้วยตัวเอง
  11. สอนลูกหลานให้รู้จักรอคอย และสอนให้พวกเขาอดทนรอไม่คว้าสิ่งที่ล่อใจอยู่ตรงหน้า เพื่อต่อไปสิ่งนั้น ๆ จะให้ผลลัพธ์กลับมาที่มีค่ามากยิ่งขึ้น
  12. ให้ลูกหลานได้มีโอกาสพบกับ “ความเบื่อ” จะเป็นช่วงเวลาที่ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบในการต้องทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานอยู่เสมอ
  13. อย่าใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความเบื่อหน่ายของลูกหลาน และไม่ควรใช้เทคโนโลยีเป็นอันดับแรกในการแก้ไขความรู้สึกเฉื่อยชา รู้สึกเบื่อ ของเด็ก
  14. หลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีระหว่างมื้ออาหาร ในรถยนต์ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ใช้ช่วงเวลาต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นโอกาสในการเข้าสังคม โดยการฝึกสมองให้รู้วิธีการทำงานเมื่ออยู่ในโหมด “เบื่อ”
  15. ช่วยให้ลูกหลานสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้เบื่อ เมื่อเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย

มีอารมณ์ร่วมกับลูกหลาน และสอนทักษะการควบคุมตนเองและทักษะทางสังคม ดังนี้

  • ปิดโทรศัพท์ในเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการนอนจากการใช้โทรศัพท์
  • ทำตัวเป็นผู้ควบคุม หรือผู้ฝึกสอนทางด้านการควบคุมอารมณ์สำหรับลูกหลานของคุณ โดยสอนเด็กให้รู้จักและจัดการกับความผิดหวัง คับข้องใจและความโกรธของตนเอง
  • สอนให้ลูกหลานรู้จักทักทาย รู้จักผลัดกันเล่น รู้จักแบ่งปัน กล่าวขอบคุณและขอโทษคนอื่น ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง (โดยไม่บังคับเด็ก) โดยพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของค่านิยมทั้งหมดที่ตนปลูกฝังให้กับเด็ก
  • เชื่อมต่อทางอารมณ์กับลูกหลาน โดยการยิ้ม กอด จูบ จี้ อ่านหนังสือ เต้นรำ กระโดด เล่นหรือคลานไปกับเด็ก

การปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกหลานให้สอดคล้องกับคำแนะนำดังกล่าว อาจช่วยให้คุณได้ลูกหลานที่มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี และวันนี้ยังไม่สายเกินไปหากคุณเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงดูพวกเขาเสียใหม่ ก่อนที่พวกเขาจะเติบโตมาพร้อมกับปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ตามมา และเป็นเหตุให้คุณต้องทุกข์ใจในภายหลัง

ที่มา : โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์เป็นองค์กรนำด้านวิชาการและบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในเขตสุขภาพที่ 3
https://bit.ly/3LnHLAK


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท