วางแผนการเงินหลังเกษียณ ให้มีใช้ ไม่ขัดสน
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
20-09-2022 14:17
ในปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเริ่มมีจำนวนมากขึ้น หากผู้สูงอายุมีเงินบำเหน็จบำนาญหรือมีสวัสดิการเพียงพอรองรับชีวิตหลังเกษียณอายุได้ ก็คงไม่เกิดปัญหาเท่าใดนัก
ในปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเริ่มมีจำนวนมากขึ้น หากผู้สูงอายุมีเงินบำเหน็จบำนาญหรือมีสวัสดิการเพียงพอรองรับชีวิตหลังเกษียณอายุได้ ก็คงไม่เกิดปัญหาเท่าใดนัก เพราะหากไม่ใช่ข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงิน มีผลตอบแทนให้หลังจากเกษียณอายุแล้ว ผู้สูงอายุเหล่านี้จะลำบากไม่น้อย เนื่องจากประชากรโดยส่วนใหญ่ ยังมีอาชีพอิสระ หรือหาเช้ากินค่ำ การเก็บออมเงินไว้ใช้เมื่อคราวแก่ชรา ด้วยการฝากเงินกับกองทุนต่าง ๆ หรือการเก็บออมเงินไว้เองก็คงทำได้ยาก โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู หรือมีลูกหลานแต่ก็ถูกทอดทิ้ง ผู้สูงอายุควรต้องเตรียมพร้อม วางแผนการเงินหลังเกษียณอยู่เสมอ ๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับตนเองตอนแก่ชรา และไม่เป็นภาระของลูกหลาน
การเริ่มวางแผนทางการเงิน
-
วางแผนทางการเงินต้องทำก่อนวัยเกษียณ ไม่ใช่เกษียณแล้วจึงมาเริ่มทำ เพราะอาจจะทำให้สายเกินไป การเก็บออมเงินตั้งแต่อยู่ในวัยกลางคนหรือวัยทำงาน ไม่ว่าจะฝากประจำ หรือทำประกันเงินออมระยะยาวประมาณ 20 ปีขึ้นไป หรือเลือกทำประกันเงินออมตามแผนที่ทางธนาคารต่าง ๆ มีให้เลือก เช่น เงินออมหลังเกษียณ การเก็บเงินระยะยาวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งทำให้เกิดความสบายใจได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพอิสระ หรือใครที่อยากจะออมเงินธรรมดา ๆ ก็สามารถหยอดกระปุกออมสิน ฝากเงินกับธนาคารจากบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปก็ดี แต่มีข้อแม้ว่าให้แยกบัญชีเก็บออกจากบัญชีปกติและห้ามทำบัตรเอทีเอ็ม
-
ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อถึงวัยเกษียณแล้วอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนต่าง ๆ หรือจากธนาคารที่ตนฝากไว้นั้นจะมีใช้ได้ตลอดไป ควรทำบัญชีรายจับรายจ่ายให้ละเอียด ว่าในแต่ละเดือนต้องใช้อะไรบ้างที่จำเป็น ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าน้ำค่าไฟ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล หากใครที่ทำประกันสุขภาพไว้ก็ไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่ถ้าใครที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกัน การใช้ระบบประกันสุขภาพของรัฐก็เป็นอีกหนทางหนึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ แต่การเก็บเงินไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาทีหลัง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู
-
แบ่งเงินก้อนจำนวนหนึ่งลงทุนที่ให้ผลกำไรแน่นอน หลังเกษียณอายุอาจจะแบ่งเงินบางส่วนที่ตนฝากไว้ก่อนหน้านี้ มาฝากในลักษณะของกองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล หรือการซื้อสลากออมสิน สลาก ธกส. ก็ทำให้ต่อยอดดอกผลได้ หรือใครที่มีประกันเงินออมแล้วจะฝากต่อไป ก็ได้เช่นกัน ควรลงทุนกับเงินออมที่ให้ดอกผลแน่นอน หรือเงินปันผลที่ชัดเจน
-
ทำอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเกษียณอายุ หลายคนไม่อยากอยู่เฉย ๆ อยากจะทำอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการประกอบอาชีพก็เป็นการต่อยอดให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง แต่ควรศึกษาให้ดีและไม่ควรจะลงทุนกับการประกอบการที่เสี่ยงมาก ๆ เพราะมีสิทธิ์ขาดทุนสูง อาจจะทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแก้เหงาหรือคลายเครียดแล้วเก็บออมเงินไว้จะดีกว่า
-
ใช้เงินเท่าที่จำเป็นมากที่สุด เช่น ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของฟุ่มเฟือยออกไป เช่น พวกเหล้า บุหรี่ นอกจากจะทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้วยังทำลายสุขภาพอีกด้วย
-
ก่อนจะเกษียณอายุต้องเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น หลังเกษียณแล้วจะทำงานได้น้อยลง ดังนั้นควรจะสะสางหนี้สินต่าง ๆ ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือภาระอื่น ๆ หรือถ้าใครที่คิดจะนำเงินก้อนหลังเกษียณอายุมาใช้หนี้สินต่าง ๆ ก็ควรคำนวณดูว่า เมื่อใช้หนี้แล้วจะเหลือเงินเท่าไหร่ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ แต่ในทางที่ดีเคลียร์ปัญหาหนี้สินให้หมดก่อนอายุ 60 ปีจะดีที่สุด
ที่มา : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
https://bit.ly/3f2N8Ju