4 ต้อง 2 ไม่ ที่ควรทำเมื่อเด็กชัก
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
17-09-2022 15:55
การชักจากไข้สูง (Febrile Convulsion) มักจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน จนถึง 5 ปี แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ ช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี เพราะสมองของเด็กยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น โดยจะมีอาการชักเกิดขึ้นในวันแรก หรือวันที่ 2 ของการมีไข้
การชักจากไข้สูง (Febrile Convulsion) มักจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน จนถึง 5 ปี แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ ช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี เพราะสมองของเด็กยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น โดยจะมีอาการชักเกิดขึ้นในวันแรก หรือวันที่ 2 ของการมีไข้
อาการ
เด็กจะเริ่มมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น อาจเกิดการกระตุกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1–3 นาที ช่วงนั้นอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก ริมฝีปาก และปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้ ลักษณะของอาการชักอาจจะเป็นชักเกร็งทั้งตัวหรือชักเกร็งกระตุกทั้งตัวก็ได้ แต่จะไม่ชักเฉพาะซีกของร่างกาย หรือชักผวากระตุก
ในรายที่เด็กชักเป็นเวลานาน หลังจากหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับ หรือมีอาการสะลึมสะลือไปชั่วครู่ แต่กรณีเด็กที่ชักนานกว่า 15 นาที อาจพบอาการผิดปกติทางระบบประสาทตามมา
เมื่อเด็กมีอาการชัก ควรทำอย่างไร
- สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีสติ เพื่อที่จะสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบพาไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด
- ต้องจับเด็กตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ให้ศีรษะอยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่ง ให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาได้สะดวก และป้องกันไม่ให้สำลักเข้าไปอุดตันในหลอดลม ที่สำคัญควรระวังเรื่องสภาพแวดล้อมขณะนั้น ควรอยู่บนพื้นราบ ป้องกันไม่ให้ลูกได้รับอันตรายอื่น ๆ จากการตกหรือล้มในขณะชักด้วย
- ต้องเช็ดตัวตลอดเวลา โดยใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำเช็ดเน้นบริเวณตามข้อพับต่างๆ ของร่างกายทั้งแขนขา และค่อย ๆ เช็ดตัวลูก โดยเช็ดในทิศทางที่ย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขน ให้ความร้อนสามารถระบายออกได้ และควรถอดเสื้อหรือคลายให้หลวม ไม่ควรใช้น้ำเย็น หรือแอลกอฮอล์เช็ดตัว
- ระวังอย่าให้ลูกกัดลิ้นตัวเอง ถ้าเด็กกำลังเกร็งและกัดฟันแรงมาก อย่าพยายามงัดปากเด็ก หรือใช้ช้อนกดลิ้น หรือใช้เศษผ้ายัดเข้าไปในปาก เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ฟันหลุดหรือหักและหล่นลงไปอุดหลอดลม ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน
สำหรับสิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่ควรเขย่าตัวเด็กขณะที่เด็กกำลังชักเกร็ง เพื่อให้เด็กตื่นหรือรู้สึกตัว เพราะจะยิ่งทำให้เด็กชักมากขึ้น
- ไม่ควรป้อนสิ่งใดๆ ในขณะที่เด็กกำลังชักเกร็งเข้าทางปากเด็กโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะอาจทำให้สำลักได้
เมื่ออาการชักสงบแล้ว รีบพาเด็กไปพบแพทย์ที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้คุณหมอทำการตรวจร่างกายของเด็กอย่างละเอียด โดยเฉพาะระบบประสาท และอาจต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเอ็กซเรย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธี
ที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ
https://bit.ly/3eH7wjt