Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

การป้องกันโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

17-09-2022 15:21

โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม”สามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุ ส่วนมากพบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ แต่หากเกิดในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี มักจะมีความต้านทานโรคต่ำ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้

ภาพประกอบเคส

โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม”สามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุ ส่วนมากพบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ แต่หากเกิดในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี มักจะมีความต้านทานโรคต่ำ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดโรค
ปอดอักเสบเป็นโรคของการอักเสบในเนื้อปอด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา เฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ ด้วยการ ไอ จาม อีกทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ มักติดเชื้อจากการสำลักน้ำลาย น้ำดื่ม หรืออาหาร ส่งผลให้เชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เข้าสู่บริเวณปอด จนเกิดโรคปอดอักเสบในที่สุด

อาการของโรค
ปอดอักเสบมีระยะเวลาดำเนินโรคที่ไม่แน่ชัดขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1 – 3 วัน หรือนานเป็นสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่โรคปอดอักเสบจะเกิดหลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยมักมีอาการมีไข้สูง อ่อนเพลีย ไอมีเสมหะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก นอกจากนี้ผู้ป่วยที่สูงอายุที่มีโรคปอดอักเสบร่วมด้วย จะเริ่มมีอาการสับสนหรือซึมลง หากเกิด โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนมากกว่าปกติ เช่น ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือ การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคปอดอักเสบ
เนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จากความเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวาย หัวใจ ไขมันพอกตับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังนี้

  • ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ลดการออกไปในสถานที่แออัด เว้นและรักษาระยะห่าง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  • หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการ ไข้สูง อ่อนเพลีย หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก ให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง

ที่มา : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178486


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท