สารพันปัญหา เด็กตอนกรี๊ด
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
09-09-2022 10:18
บ้านไหนมีเด็ก คนในบ้านนั้นก็ต้องทำใจต่อเสียงร้องไห้ โวยวาย แต่ถ้าเสียงกรี๊ดร้องของเด็ก นับวันมีบ่อยขึ้น และเกิดวันละหลายครั้ง ก็ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
บ้านไหนมีเด็ก คนในบ้านนั้นก็ต้องทำใจต่อเสียงร้องไห้ โวยวาย แต่ถ้าเสียงกรี๊ดร้องของเด็ก นับวันมีบ่อยขึ้น และเกิดวันละหลายครั้ง ก็ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
สาเหตุที่เด็กกรี๊ด
- เป็นการแสดงออกถึงความโกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิด อาจจะเป็นภาวะปกติในช่วงที่เด็กยังพูดได้ไม่เก่ง (วัย 1 - 3 ปี) เมื่อเติบโตขึ้น พฤติกรรมการกรีดร้องจะลดลงจนหายไปหมด
- เป็นการเรียนรู้ถึงอิทธิพลจากการกรี๊ด ซึ่งทำให้เด็กได้ทุกสิ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะหากมีผู้คอยเสริมหรือคอยให้ท้าย
- เลียนแบบพฤติกรรมชอบกรี๊ดจากผู้ใหญ่
- มีคนยั่วแหย่ให้เด็กโกรธบ่อย ๆ
- การเลี้ยงดูที่ตามใจ ส่งเสริมให้เด็กเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ควบคุมอารมณ์ทุกอย่างต้องได้ดั่งใจ
- เป็นการเรียกร้องความสนใจ
- ขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ดี
วิธีการแก้ไข
- ให้ความสำคัญต่อเด็ก เมื่อขณะที่ยังไม่กรี๊ด หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ จนเด็กเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องกรี๊ดเพื่อเรียกร้องความสนใจ
- ในกรณีที่เอาแต่ใจตัวเอง ผู้ปกครองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการเลี้ยงดู ให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ ลดการตามใจ ฝึกให้ช่วยตนเองเพิ่มขึ้น สิ่งใดที่เล่นไม่ได้ก็อย่าให้เล่นถึงแม้ว่าเด็กจะอาละวาดขนาดไหน ก็อย่าสนใจ แต่ให้เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น
- ลดการยั่วแหย่เด็ก หรือทำให้เด็กโกรธโดยไม่จำเป็น
- ในกรณีที่มีผู้ใหญ่ที่ชอบกรี๊ด หรือโวยวายเป็นต้นแบบ จำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อลดแบบอย่าง ถ้าเป็นไปได้กรณีที่เปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ก็ต้องแยกเด็กให้ห่างออกมา
- ฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ อารมณ์รัก ชอบ ดีใจ ไม่พอใจ โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่พบได้ในเด็กวัย 3 - 5 ปี หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือสอนให้เด็กรู้ทันว่าตนเองรู้สึกอย่างไร และฝึกให้หัดควบคุมอารมณ์ หรือฝึกวิธีระบายอารมณ์ ตั้งแต่การพูดคุย การทำสิ่งทดแทน
- เพิ่มทักษะในการเล่น เช่น การว่ายน้ำ เล่นบอล ถีบจักรยาน วาดรูป เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ ฯลฯ เพราะการเล่นในเด็กมีความหมายเท่ากับการทำงานของผู้ใหญ่ กิจกรรมจะทำให้เด็กผ่านภาวะเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ได้มีเวลาไตร่ตรอง และระบายความรู้สึกผ่านการเล่นนี้เอง
- เพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ปัญหาของเด็ก 3 - 5 ปี มักหนีไม่พ้นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ทำน้ำหก ติดกระดุมเขย่ง หารองเท้าไม่พบ ฯลฯ การฝึกหัดให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลทำให้เด็กมีความชำนาญที่จะ แก้ไขสถานการณ์ที่ผิดหวังได้เก่งกว่าเด็กที่ช่วยตนเองไม่ได้ ซึ่งก็คงทำได้แค่ส่งเสียงกรี๊ด ๆ รอให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลืออีกตามเคย
ที่มา : สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
https://rajanukul.go.th/iqeq/index.php?mode=know&group_id=0&id=310