Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

09-09-2022 09:19

ผู้สูงอายุร้อยละ 70 ที่สายตาไม่ดี การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดภาวะสายตาเลือนรางหรืออาจตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก การตรวจคัดกรองดวงตาจะช่วยให้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรงและอาจสูญเสียดวงตาไปในที่สุด ซึ่งโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ และพบบ่อยที่สุดเมื่ออายุมากขึ้

ภาพประกอบเคส

ผู้สูงอายุร้อยละ 70 ที่สายตาไม่ดี การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดภาวะสายตาเลือนรางหรืออาจตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก การตรวจคัดกรองดวงตาจะช่วยให้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรงและอาจสูญเสียดวงตาไปในที่สุด ซึ่งโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ และพบบ่อยที่สุดเมื่ออายุมากขึ้น ได้แก่

  1. ต้อกระจก เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอตาประสาทด้านในลูกตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจตาบอดได้ วิธีการรักษาคือการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่
  2. ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา สาเหตุจากโรคเบาหวานทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดฝอยส่งผลให้ขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงจอตา และกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่อย่างผิดปกติที่จอประสาทตา การรักษาในปัจจุบันมุ่งหวังให้โรคไม่ลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติรวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง
  3. ต้อหิน ภัยเงียบที่เกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่เป็นต้อหิน อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น โรคนี้มักไม่มีอาการ จะเริ่มสูญเสียลานสายตา คือ การมองเห็นจำกัดวงแคบลงเรื่อยๆ และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องมาตรวจติดตามอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
  4. จุดภาพชัดจอตาเสื่อม เกิดจากภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้ปกติ ปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะสูงวัย แสงรังสี UV สูบบุหรี่ และความดันโลหิตสูง ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ เมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำตรงกลางภาพ หรือสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด
  5. ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจะอ่าน หรือเขียนหนังสือ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้ไม่ชัดเจน แต่มองไกลได้ปกติ บางคนมีอาการตาพร่า หรือปวดตา มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นสายตา แต่ควรมาตรวจกับจักษุแพทย์ให้แน่ใจว่า ไม่มีความผิดปกติของโรคตาอื่นๆร่วมด้วย

ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบความผิดปกติในระยะแรกจะสามารถรักษาและป้องกันหรือชะลอความเสื่อมได้ นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพของตนเอง สวมแว่นกันแดดเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสายตา เช่น ผัก ผลไม้ สีเขียว สีเหลือง และไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ที่มา : กรมการแพทย์
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178197/


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท