Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

31-08-2022 13:40

ขณะนี้หลายพื้นที่ต้องประสบกับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบประปรายในเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกัน เช่น ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โดยเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีและจะพบเพิ่มขึ้นในฤดูฝน

ภาพประกอบเคส

ขณะนี้หลายพื้นที่ต้องประสบกับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบประปรายในเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกัน เช่น ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โดยเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีและจะพบเพิ่มขึ้นในฤดูฝน

สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ โดยเชื้อจะเข้าสู่ปากจากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก น้ำตุ่มพองและแผลของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังเกิดจากการไอ จาม ดังนั้น สถานศึกษาควรมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก

อาการของโรค
เมื่อรับเชื้อมา 3-5 วัน ส่วนใหญ่เด็กมักจะเริ่มมีไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้ อ่อนเพลีย มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ เนื่องจากมีตุ่มแดงใสที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม รวมถึงฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นได้ ผื่นมักจะไม่คันและหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน

การรักษา
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการ โดยปกติมักไม่รุนแรงและหายได้เองหากไม่มีอาการแทรกซ้อน ผู้ปกครองจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ควรรีบนำไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การดูแลเบื้องต้น
พยายามให้จิบน้ำบ่อยๆ อย่าให้ขาดน้ำ หากทานอาหารไม่ได้ เพราะมีอาการเจ็บในปากมาก สามารถให้รับประทานอาหารที่เย็น เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต และรับประทานน้ำตามทุกครั้ง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นในสามวัน แต่ถ้าทานไม่ได้ ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลียซึมมากให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แม้โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ผู้ปกครองสามารถดูแลได้โดย

  1. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน
  2. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือภายหลังการขับถ่าย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
  3. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าขนหนู
  4. ผู้ปกครองต้องหมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำเพื่อลดเชื้อโรค
  5. หากพบว่าเด็กมีอาการป่วยควรแจ้งทางโรงเรียนทราบและควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

ที่มา : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/3PTZi4l


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท