8 วิธีลดความเครียดให้แก่เด็ก
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
31-08-2022 10:49
ครอบครัวควรมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ
-
การให้เด็กได้ออกกำลังกาย การที่เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การกระโดด ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเหมาะสมตามวัย ยังช่วยทำให้เด็กมีจิตใจสดชื่นและช่วยลดความตึงเครียดได้ เพราะขณะออกกำลังกายร่างกายจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น สมองได้หยุดคิดเรื่องที่เครียดชั่วคราว และภายหลังการออกกำลังกายแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้รู้สึกคลายความเครียด
-
การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ครอบครัวควรมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ปลูกต้นไม้ ให้ลูกได้ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ หรือทำอะไรก็ได้ที่ครอบครัวชื่นชอบ ทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุข ทำให้เด็กๆ ลืมเรื่องเครียดได้อีกทั้งยังทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัวด้วย
-
การพูดอย่างสร้างสรรค์ พูดในทางบวก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดจากับลูกให้มาก การชมเชยลูก การให้กำลังใจ เช่น “เก่งจังเลย” “สวยจัง” “ทำได้เยี่ยมไปเลย” เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสอนลูก ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีและช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณและลูกมีความสุขมากขึ้น
-
การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะการร้องไห้เป็นการระบายความเครียดได้ดีอย่างหนึ่ง เด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้
-
พ่อแม่ควรมีความยืดหยุ่นในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรทำกิจกรรมที่รีบเร่งหรือเร่งรัดเด็กเกินไป แต่ควรฝึกให้ลูกรู้จักวินัยและมีความรับผิดชอบ โดยพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนเด็ก วันหยุดให้เด็กได้พักผ่อน ทำกิจกรรมที่เด็กชอบ การเรียนศิลปะ ดนตรีกีฬาที่พอเหมาะ จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น
-
การยอมรับในความสามารถของเด็กและ ไม่ควรบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม เช่น การสอนให้คัด ก.ไก่ ข.ไข่ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 4 ปี การให้นั่งเรียนอยู่ที่โต๊ะเรียนเป็นเวลานานเกินไป เป็นต้น
-
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นควรหาสาเหตุก่อนเพื่อทำการแก้ไข ก่อนที่จะลงโทษเด็ก ควรถามถึงเหตุผลที่เด็กกระทำสิ่งนั้นว่าคืออะไร? ทำไมจึงทำ? เมื่อเราทราบสาเหตุแล้วจะทำให้เราเข้าใจการกระทำของเด็ก ส่งผลให้เราสามารถพูดคุยและสอนเด็กได้อย่างถูกต้องและส่งเสริมให้เด็กได้แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลดีหรือเสียอย่างไร
-
การให้เด็กได้พบกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่อันตราย การรู้จักความผิดพลาดบ้าง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว และรู้จักแก้ไขปัญหาได้
ที่มา : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)
https://bit.ly/3wtMivt