Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ทำงานอย่างไรไม่ให้ล้า


หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

31-08-2022 08:47

การป้องกันการล้าจากการทำงาน ทำได้ไม่ยาก

ภาพประกอบเคส

การป้องกันการล้าจากการทำงาน ทำได้ไม่ยาก มี 10 ข้อ ดังนี้

  1. ลดท่าทางการทำงานที่จะทำให้เกิดอาการล้า ปรับเปลี่ยนท่าทางที่ต้องใช้กล้ามเนื้อทำงานให้น้อยลง เช่น หากต้องก้มหยิบของที่อยู่ในลังก้นลึก ลองปรับเปลี่ยนตำแหน่งของลังให้ก้มตัวน้อยลง เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหลังล้า
  2. แบ่งงานให้เหมาะสม ถ้ามีงานที่ต้องใช้แรงงานและสมองมาก ให้พยายามทำงานนั้นในตอนเช้า และทำงานเบาในตอนบ่าย
  3. แบ่งงานเป็นช่วงๆ และมีช่วงพักที่เหมาะสม ข้อแนะนำของงานที่ต้องใช้แรงงาน คือ ควรพักประมาณ 10 นาที เมื่อเริ่มอาการล้า สำหรับงานที่ต้องอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่น งานที่ต้องนั่งหรือยืนตลอดเวลา ควรจะพักด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถและเคลื่อนไหวร่างกาย 10-15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง
  4. หลีกเลี่ยงการทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน การทำงานที่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ได้ทำให้ผลผลิตจากการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งเสี่ยงบาดเจ็บจากการทำงานได้ และควรพักผ่อนอย่างน้อย 11-12 ชั่วโมง
  5. ตรวจสอบสภาพการทำงานว่าอากาศร้อนหรือเย็น มีเสียงดังเกินไปหรือไม่ แสงในที่ทำงานน้อย หรือจ้าเกินไปหรือไม่
  6. กินอาหารที่ให้พลังงานในผู้ที่ต้องใช้แรงงานมาก และดื่มน้ำให้เพียงพอถ้าต้องทำงานหนักกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำทุก 20 นาที เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยจากความร้อนและการขาดน้ำ
  7. พักผ่อนด้วยการนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ในผู้ที่ต้องใช้แรงงาน ให้เข้านอนหัวค่ำ และควรพักผ่อนในวันหยุด ไม่ออกไปเที่ยวหาความสำราญ ดื่มสุรา จะทำให้ การล้าจากการทำงานคงค้างอยู่
  8. ผู้ที่ต้องนั่งหรือยืนทำงานนานๆ ให้ออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ ประมาณ 15-20 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เช่น การเดินขึ้นบันได เดินเร็วๆ ในที่ทำงาน ออกกำลังด้วยการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อที่ต้องใช้งานบ่อยๆ
  9. ขจัดความเครียดด้วยการพักผ่อน นั่งสมาธิ เป็นต้น
  10. พักสายตาโดยการมองไกล 1-2 นาที ทุกชั่วโมง ในการอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ จะเห็นได้ว่าการป้องกันไม่ให้ล้าจากการทำงาน ปฏิบัติได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ คนทำงานต้องรู้ตัวเอง ไม่ฝืนทำงานทั้งที่มีอาการล้า ต้องให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อระบายการล้าออก แล้วจึงกลับไปทำงาน โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการทำงานที่มาจากการล้าจะน้อยลง

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ข้อมูลโดย มูลนิธิหมอชาวบ้าน
https://bit.ly/3CE5Kt6


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท