Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

“รุก” หรือ “รับ” ฝ่ายไหนเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากัน


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

31-08-2022 08:35

ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารคัดหลั่งที่สัมผัส

ภาพประกอบเคส

“โรคเอดส์” กับ “เอชไอวี” ไม่เหมือนกัน เอชไอวี คือ ชื่อเชื้อไวรัส โรคเอดส์ คือ กลุ่มอาการที่บ่งบอกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี

เพราะฉะนั้นการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้เท่ากับโรคเอดส์ทุกราย แต่ถ้าติดเชื้อเอชไอวีแล้วไม่ได้รับการรักษาก็สามารถเป็นโรคเอดส์ได้

ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารคัดหลั่งที่สัมผัส เช่น เลือดและสารคัดหลั่งที่มีเลือดปนจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากที่สุด รองลงมาคือ น้ำอสุจิ น้ำคร่ำ น้ำในช่องคลอด ส่วนที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก ๆ หรือแทบจะไม่มีเลยคือ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก และเสมหะ ถ้าไม่ได้มีเลือดปนอยู่ด้วย

ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รัก ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  1. มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ฝ่ายรับที่เป็นเพศหญิงจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีถึง 8 ใน 10,000 ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายจะมีความเสี่ยงเพียงแค่ 4 ใน 10,000 ครั้ง หรือมีความเสี่ยงครึ่งหนึ่งของฝ่ายรับ

  2. มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากจะเป็นคู่ชายรักชายแล้ว ปัจจุบันพบว่าคู่รักชายหญิงก็มีรสนิยมทางเพศทางทวารหนักด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวเลขของฝ่ายรับไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากถึง 138 ใน 10,000 ครั้ง ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายมีความเสี่ยงเพียง 11 ใน 10,000 ครั้ง เท่านั้น

  3. มีเพศสัมพันธ์ทางปาก ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับหรือฝ่ายรุกนั้นมีตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงนั้นคือศูนย์ เพราะถ้าปากมีเลือดออก มีแผล หรือเหงือกอักเสบ ก็สามารถเป็นทางเข้าเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน

ที่มา : สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3ATLX7L


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท