Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ฟื้นฟูบ้าน-กำจัดเชื้อรา หลังน้ำลด ด้วย 3 ขั้นตอน


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

26-08-2022 11:44

จากอิทธิพลของพายุฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรของประชาชนได้รับผลกระทบ มีน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการหมักหมมและเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติควรเร่งทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ภาพประกอบเคส

จากอิทธิพลของพายุฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรของประชาชนได้รับผลกระทบ มีน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการหมักหมมและเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติควรเร่งทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ก่อนเข้าไปในบ้านต้องสำรวจความเสียหาย ความมั่นคงของโครงสร้างบ้าน เมื่อเข้าไปแล้วให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดกลิ่นเหม็นอับ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้าน หรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ด้วยการนำไปตากแดด ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา

การจัดการเชื้อราในบ้านทำได้ 3 ขั้นตอน คือ

  1. พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อรา ให้ใช้กระดาษทิชชู แผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิว ไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด
  2. ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง
  3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60 – 90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย โดยผู้ทำความสะอาดต้องหยุดพักสูดอากาศบริสุทธิ์ ทุก 1 – 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ก่อนการทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราในบ้าน ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย สวมหน้ากาก ถุงมือยาง และรองเท้าบูททุกครั้ง รวมทั้งอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหลังจากการล้างบ้านและกำจัดเชื้อรา

ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/177740/


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท