ยา ก่อนอาหาร พร้อมอาหาร หลังอาหาร ต่างกันอย่างไร
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
20-08-2022 13:14
ยา ก่อนอาหาร พร้อมอาหาร หลังอาหาร ต่างกันอย่างไร
ยาก่อนอาหาร : ควรรับประทานในช่วงที่ท้องว่าง คือก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที
เหตุผลที่ต้องรับประทานยาก่อนอาหาร
- ยาอาจถูกทำลายและประสิทธิภาพลดลงในสภาวะกรดที่กระเพาะอาหารหลั่งออกมาหลังมื้ออาหาร เช่น ยา omeprazole
- อาหารอาจส่งผลให้ลดการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย เช่น ยาnorfloxacin levothyroxine ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ยาลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้งยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลินจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก่อนที่จะออกฤทธิ์ เช่น domperidone metoclopramide และยากลุ่ม Sulfonylureas
หากลืมรับประทานยา
ให้รับประทานยาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร แต่ยาที่ต้องรับประทานในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้รับประทานยาก่อนอาหารมื้อถัดไปแทนได้เลย ต้องรับประทานยาซ้ำ และไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าในมื้อต่อไป
ยาพร้อมอาหาร : ให้รับประทานยาพร้อมอาหารคำแรก
เหตุผลที่ต้องรับประทานยาพร้อมอาหาร
- ยาบางชนิดมีคุณสมบัติหรือการออกฤทธิ์เฉพาะ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของอาหารจำพวกแป้งไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวจึงต้องรับประทานเมื่อมีแป้งในทางเดินอาหาร เช่น ยา acarbose
- ยามีคุณสมบัติระคายเคืองทางเดินอาหาร
หากลืมรับประทานยา
ให้รับประทานพร้อมอาหารมื้อถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาหลังอาหาร : ควรรับประทานยาหลังอาหารทันทีและไม่ควรนานเกิน 15 นาทีหลังรับประทานอาหาร
เหตุผลที่ต้องรับประทานยาหลังอาหาร
- ยามีคุณสมบัติ ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน การรับประทานยาพร้อมหรือหลังรับประทานอาหารทันที จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ ตัวอย่างยา เช่น metformin และ ยากลุ่ม NSAIDs
- ยาบางชนิดต้องการกรดในกระเพาะอาหารช่วยในการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกรดในกระเพาะอาหารจะหลั่งสูงสุดในระหว่างที่รับประทานอาหารเท่านั้น ตัวอย่างยา เช่น ketoconazole cefditoren และ pivoxil
หากลืมรับประทานยา
- สามารถรับประทานยาได้ทันทีที่นึกได้ไม่เกิน 15 นาที
- หากเกิน 15 นาทีแล้ว ควรรับประทานยาหลังอาหารในมื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาหรือรับประทานอาหารมื้อย่อยก่อนรับประทานยา
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3JR91XP