การนอนในเด็ก
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
13-03-2022 20:34
การนอน ช่วยทำให้ร่างกายได้พักผ่อน เป็นอาหารสมอง สร้างภูมิต้านทานโรค สดชื่นแจ่มใสอารมณ์ดี คิดอ่านอะไรได้หลักแหลม จดจำสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้ไปได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นการนอนเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกคนและควรสนับสนุนให้เด็กๆ นอนให้เพียงพอ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะมีพฤติกรรมการนอนที่แตกต่างกัน
การนอน ช่วยทำให้ร่างกายได้พักผ่อน เป็นอาหารสมอง สร้างภูมิต้านทานโรค สดชื่นแจ่มใสอารมณ์ดี คิดอ่านอะไรได้หลักแหลม จดจำสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้ไปได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นการนอนเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกคนและควรสนับสนุนให้เด็กๆ นอนให้เพียงพอ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะมีพฤติกรรมการนอนที่แตกต่างกัน ดังนี้
เด็กแต่ละวัย .... นอนแตกต่างกันอย่างไร
- วัยทารก วัยนี้จะมีภาวะหลับตื่นสลับกันไปตลอดทั้งวัน แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือนจะเริ่มหลับกลางคืนได้ยาวประมาณ 6 ชั่วโมง และเมื่ออายุ 6 เดือนจะสามารถหลับได้นานถึง 10 ชั่วโมง แต่ก็ยังสามารถตื่นได้ในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งทารกบางคนสามารถกลับไปหลับต่อได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนต้องการการกล่อมจึงจะหลับต่อได้
- วัยเรียน วัยนี้ต้องการการนอนประมาณ 9 – 12 ชั่วโมง ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจต้องการจำนวนชั่วโมงในการนอนแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกนอนพอหรือไม่ได้จากพฤติกรรมของลูกระหว่างวัน เช่น สามารถปลุกตื่นได้ง่าย ไม่เผลอหลับตอนกลางวัน (ถามได้จากคุณครู) และเมื่อเข้านอนสามารถหลับได้ภายใน 15 - 30 นาที
- วัยรุ่น วัยนี้ต้องการเวลานอน 8 -10 ชั่วโมง แต่ลักษณะการนอนของเด็กวัยนี้จะเปลี่ยนไปจากวัยเรียน โดยที่วัยรุ่นจะเข้านอนดึกและตื่นสายซึ่งเป็นภาวะปกติเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้นในช่วงเปิดเทอมที่วัยรุ่นต้องมาโรงเรียนในตอนเช้าจะมีผลทำให้วัยรุ่นนอนไม่พอได้บ่อย และอาจกระทบต่อการเรียนของเขา และวัยรุ่นมักจะมานอนชดเชยในวันหยุด
สิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรทำ ในการสอนลูกให้มีนิสัยการนอนที่ดี
1.ควรทำ
- สร้างกิจวัตรก่อนนอนให้เป็นเวลาพิเศษที่จะพูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย
- ให้ลูกเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา
- บรรยากาศห้องนอน สำหรับเด็กเล็กสามารถใช้เสียงที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอไม่ดัง ไม่กระตุ้น เป็นเสียงที่ช่วยกล่อมให้เด็กนอน
- สร้างกิจวัตรในระหว่างวันให้มีตารางเวลาสม่ำเสมอ
- ควรปิดไฟ หรือ หรี่แสงไฟในห้องนอน เมื่อถึงเวลานอนและควรให้เด็กได้เจอแสงแดดธรรมชาติในเวลากลางวัน
2.ไม่ควรทำ
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เร้าความตื่นเต้น หรือ กิจกรรมที่ต้องเผชิญกับแสงที่จ้ามากเกินในช่วงเวลา 2 - 3 ชั่วโมงก่อนนอน
- ในทารกควรเลี่ยงการให้เด็กหลับคาขวดนม
- อย่าให้การนอนเกิดจากการขู่ หรือ เป็นการลงโทษจากการทำความผิด ควรสอนให้เด็กรับรู้ว่าการนอนเป็นเวลาของความสุข
- หลีกเลี่ยงการเอาของเล่นมาให้เด็กเล่นเมื่อถึงเวลานอน
- หลีกเลี่ยงอาหารหนัก หรือ ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
ที่มา : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/02212017-1525