โรคถุงลมโป่งพอง ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
06-08-2022 16:32
โรคถุงลมโป่งพอง คือ ภาวะที่ถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้พื้นที่ผิวในปอดลดน้อยลง จนทำให้หายใจลำบาก และส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
โรคถุงลมโป่งพอง คือ ภาวะที่ถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้พื้นที่ผิวในปอดลดน้อยลง จนทำให้หายใจลำบาก และส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุหลักของโรค ยิ่งสูบมากก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่เราสูบเองเป็นหลัก นอกจากบุหรี่แล้วก็ยังมีสารพิษอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น มลภาวะในอากาศตามท้องถนน หรือตามโรงงานต่างๆ ถ้าหากสูดดมสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ หรืออาจมีความผิดปกติของปอดตั้งแต่เด็กๆ จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น
อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ
- ไอ ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการไอ และมีเสมหะบ่อยๆ มักจะเป็นมากในช่วงเช้า
- อาการเหนื่อย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยหลังเดินออกกำลังกาย และเมื่อมีอาการมากขึ้น การทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว ก็ทำให้มีอาการเหนื่อยได้แล้ว หรือแม้แต่อยู่เฉยๆ ก็มีอาการรู้สึกเหนื่อยได้เช่นกัน
นอกจากนี้อาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจถี่และสั้น หายใจแล้วมีเสียงหวีด รู้สึกแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด และผอมลงมาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดที่ไหลเข้าสู่ปอด ส่งผลให้หัวใจห้องล่างขวาโตขึ้น ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง คือ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีควันพิษ จากท่อไอเสีย
- สวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเมื่อต้องเจอกับฝุ่นควัน หรือสารพิษที่เป็นอันตราย
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองควรดูแลตนเองด้วยการ หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ พยายามอยู่แต่ในบ้านหรือในอาคาร หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง อีกทั้งผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคนี้กำเริบขึ้นได้
ที่มา : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/176748/