Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

11 อ. เพื่อสูงวัยแบบสตรอง


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

29-07-2022 10:21

เมื่อเรามีอายุมากขึ้นสภาพร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพ และการใช้ชีวิตในวัยที่ผ่านมา รวมถึงโรคประจำตัว ซึ่งทำให้สมรรถภาพของร่างกายเสื่อมถอยลงไป การปฏิบัติตามหลัก 11 อ. จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ และผู้สูงอายุนำไปปรับใช้เสริมสร้างความสตรอง ให้ชีวิตดี สุขภาพดี มีสุ

ภาพประกอบเคส

เมื่อเรามีอายุมากขึ้นสภาพร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพ และการใช้ชีวิตในวัยที่ผ่านมา รวมถึงโรคประจำตัว ซึ่งทำให้สมรรถภาพของร่างกายเสื่อมถอยลงไป การปฏิบัติตามหลัก 11 อ. จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ และผู้สูงอายุนำไปปรับใช้เสริมสร้างความสตรอง ให้ชีวิตดี สุขภาพดี มีสุข ดังนี้

  1. อาหาร ควรลดปริมาณอาหารลง ให้สัมพันธ์กับการใช้พลังงานจริง คือ ประมาณ 1,500 กิโลแคลอรีต่อวัน และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  2. อากาศ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์เข้าไปในร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลให้อารมณ์แจ่มใส สุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาว
  3. ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที จะช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกาย
  4. อนามัย สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย และจิตใจ ถ้าสังเกตพบความผิดความปกติในระยะเริ่มต้น จะทำให้การรักษาได้ผลดี
  5. แสงอาทิตย์ รับแสงแดดอ่อนยามเช้า อย่างน้อยวันละ 30 นาที ช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะ “วิตามินดี” สามารถป้องกันโรคซึมเศร้า เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน กล้ามเนื้อให้แข็งแรง ฯลฯ
  6. อารมณ์ ควบคุมอารมณ์ การทำสมาธิ ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย มีสติมากขึ้น
  7. อดิเรก ผู้สูงอายุควรหางานอดิเรกทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือลดการหมกมุ่นในสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  8. อบอุ่น การเป็นบุคคลที่มีบุคลิกโอบอ้อม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้การช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัว และบุคคลอื่น เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
  9. อุจจาระ / ปัสสาวะ ผู้สูงอายุ ในบางรายอาจจะเกิดปัญหาถ่ายยาก ถ่ายลำบาก การป้องกันด้วยการกินผักผลไม้ ดื่มน้ำให้มากๆ เพราะผู้หญิงสูงวัยหลายคนมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะ หลายคนจึงไม่ชอบดื่มน้ำ
  10. อุบัติเหตุ ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วก็มีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงดูแลสภาพบ้านเรือนให้ปลอดภัย มีแสงสว่างพอเหมาะ พื้นไม่ลื่น หรือควรมีราวจับในจุดที่เสี่ยงอุบัติเหตุ
  11. อนาคต เตรียมเงิน และที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นหลักประกัน ในการดำเนินชีวิต

ข้อควรระวังใน การออกกำลังกาย ของผู้สูงอายุ : ควรหยุดออกกำลังกาย เมื่อมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ รู้สึกเหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน เหงื่อออกมาก ตัวเย็น เจ็บที่บริเวณหัวใจหรือร้าวไปที่ไหล่ซ้าย เวียนศีรษะ ควบคุมลำตัวแขน ขา ไม่ได้ มีอาการอ่อนแรงหรืออัมพาตบริเวณแขน ขา หรืออวัยวะอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ทั้งนี้ผู้สูงอายุ แต่ละคนจะมีปัญหาแตกต่างกันไป จึงต้องปรับการดูแลให้เหมาะสม ที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้สูงอายุคือ ให้ท่านทั้งหลายได้สามารถใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข มีอิสระที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพตามที่ตนต้องการ ถึงแม้สภาพร่างกายจะเสื่อมถอยไป และมีโรคเรื้อรังต่าง ๆ

ที่มา : คู่มือสูงวัยอย่างสมาร์ท พร้อมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ควรรู้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และคุณรู้เรื่องอาหารของผู้สูงอายุดีพอ? ข้อมูลจาก ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3S0ULzt


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท