สังเกตอาการหลังหยุดยาว ป้องกัน โควิด-19
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: โควิด
23-07-2022 11:03
ช่วงวันหยุดยาว ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยว เดินทางไกล หรือกลับภูมิลำเนา เมื่อต้องเดินทางกลับไปทำงาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสังเกตอาการตนเอง ดังนี้
ช่วงวันหยุดยาว ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยว เดินทางไกล หรือกลับภูมิลำเนา เมื่อต้องเดินทางกลับไปทำงาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสังเกตอาการตนเอง ดังนี้
- มีอาการไอ เจ็บคอ
- มีไข้ มีน้ำมูก
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
- หายใจลำบาก
- เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงโดยไม่ได้มีการป้องกันที่ดีพอ
หากมีอาการเหล่านี้ให้ดำเนินการตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับเข้าทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนานเกิน 4 ชั่วโมง หรือไปในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก โดยหากพบว่ามีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด-19 สามารถเข้าสู่กระบวนการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนี้
- ขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตังหรือใช้บัตรประชาชนไปรับเพื่อตรวจยืนยันได้ทันที
- หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด คือ ผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียวให้เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบ ของกระทรวงสาธารณสุข
- ให้กักตัว 5 วันแบบ Home Isolation และอีก 5 วัน ให้สังเกตอาการ ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องคงมาตรการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเมื่อออกจากบ้าน
ทั้งนี้ เมื่อกลับเข้าทำงาน กลุ่มวัยทำงานยังคงต้องปฏิบัติตนเพื่ออยู่ที่ทำงานอย่างปลอดภัยจากโควิด-19 โดยก่อนเข้าทำงานให้ประเมินตนเองผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ให้แจ้งหัวหน้างาน และปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งขอให้ปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัดได้แก่
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่ทำงาน
- ล้างมือบ่อย ๆด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์
- หมั่นทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์ โต๊ะทำงาน
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ส้อม เป็นต้น
- เว้นระยะห่างกับผู้ร่วมงานอย่างเหมาะสม
ในส่วนสถานที่ทำงานต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการในบริเวณต่างๆ อย่างเพียงพอเช่น ทางเข้า-ออก หน้าลิฟต์ ห้องอาหาร ห้องน้ำมีการกำหนดและตรวจสอบการทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ส่วนกลางสำนักงาน อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกรอบการปฏิบัติงาน มีภาชนะรองรับขยะประเภทต่าง ๆ อยู่ในสภาพดี และกำหนดจุดรวบรวมเพื่อรอการนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง รวมทั้งทำความสะอาดระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขอนามัยที่ดี
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/176349/