Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

7 เคล็ดลับการใช้ยาเด็ก


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

23-07-2022 08:31

เด็ก กับ อาการป่วย มักจะเป็นสิ่งที่คู่กัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังทำงานไม่สมบูรณ์ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบาย ผู้ปกครองจะเลือกการรักษาด้วยยาก่อนที่จะมาพบแพทย์

ภาพประกอบเคส

เด็ก กับ อาการป่วย มักจะเป็นสิ่งที่คู่กัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังทำงานไม่สมบูรณ์ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบาย ผู้ปกครองจะเลือกการรักษาด้วยยาก่อนที่จะมาพบแพทย์ โดยมี 7 วิธี เลือกใช้ยาให้ปลอดภัย ดังนี้

1. มีไข้แบบไหน เลือกใช้ยาเอง หรือไปพบแพทย์
หากลูกตัวร้อนมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้มือแตะหน้าผากหรือเนื้อตัว แล้วสรุปว่าลูกตัวร้อน แต่ควรวัดอุณหภูมิร่างกายโดยใช้ปรอทวัดไข้เพื่อจะได้ทราบค่าอุณหภูมิที่แน่นอน ด้วยการนำปรอทวัดไข้มาสลัดให้ปรอทลงไปที่กระเปาะแล้วสอดไว้ที่รักแร้ของลูก ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที จึงนำออกมาอ่าน

  • ค่าอุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียส ควรเริ่มให้ยาลดไข้พาราเซตามอลร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น โดยเช็ดย้อนรูขุมขนและเน้นบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนและขา เช็ดตัวไปเรื่อยๆ จนกว่าไข้จะลด
  • หากไข้ไม่ลดหลังจากการให้ยาครั้งแรกนาน 4 ชั่วโมง สามารถให้ยาลดไข้ซ้ำได้ และให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • หากมีไข้เกิน 3 วัน หรือมีไข้สูงมากเกิน 40 องศาขึ้นไป หรือไข้สูงลอยให้ยาแล้วไข้ไม่ลด ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักได้

2. หากลูกอาเจียนควรให้ยาซ้ำหรือไม่
การป้อนยาซ้ำในขณะที่เด็กกำลังร้องไห้แล้วเกิดสำลักหรืออาเจียนเอายาออกมา สามารถให้ยาซ้ำได้ แต่หากให้ยาแล้วลูกไม่อาเจียนทันที ก็ให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับยาเกินขนาด

3. อย่าผสมยาลงในขวดนม
การผสมยาลงในขวดนม แม้ว่าจะเป็นเทคนิคการป้อนยาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่วิธีการนี้ เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากแคลเซียมในนมอาจจับกับยาบางชนิด ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ และหากเด็กกินนมไม่หมดในครั้งเดียวก็จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามขนาดที่ควรได้รับ หากต้องการผสมให้ใช้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งแทน

4. ให้ป้อนยาทีละขนาน
ในกรณีที่เด็กได้รับยาหลายขนาน การผสมหรือบดยาทุกชนิดรวมกัน แล้วป้อนเด็กในครั้งเดียวอาจจะช่วยเพื่อความสะดวก แต่เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการผสมยามีผลทำให้ลักษณะทางกายภาพของยาเปลี่ยนไป หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เช่น อาจทำให้ยามีฤทธิ์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตราย หรือมีฤทธิ์ลดลง ซึ่งจะให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรป้อนยาให้ลูกทีละชนิดจึงจะปลอดภัยกว่า

5. อุปกรณ์ป้อนยาเด็ก
สำหรับเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 1 ขวบหรือในเด็กที่กินยายาก การใช้หลอดดูดยา (syringe) แทนช้อน จึงเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกมากกว่า หรือควรใช้ช้อนที่แถมมาพร้อมกับขวดยา จึงเหมาะสมกว่า

สิ่งที่ควรระวังเสมอเมื่อต้องการกินยา คือ การใช้ช้อนชาที่ชงชาตามบ้าน หรือช้อนโต๊ะที่ใช้รับประทานอาหาร หากนำมาใช้ตวงยาจะทำให้ได้รับปริมาณยาไม่ตรงตามที่กำหนด ซึ่งอาจจะทำให้เด็กได้รับยามากหรือน้อยเกินไป จึงไม่เกิดผลในการรักษา

6. เทคนิคการป้อนยาเด็ก
วิธีการบีบจมูกเพื่อให้เด็กกลืนยา เป็นวิธีที่อันตรายมากเพราะเสี่ยงต่อการที่เด็กจะสำลัก ซึ่งวิธีที่ถูกต้อง คือ การใช้หลอดดูดยาค่อยๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มเด็ก แต่ถ้าหากเด็กปฏิเสธและต่อต้านมาก อาจต้องขอให้สมาชิกคนอื่นในบ้านช่วยกันจับมือและเท้าของเด็กไว้ไม่ให้ดิ้น แล้วจึงค่อยๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มก็จะสามารถป้อนยาได้สำเร็จ ระวังฉีดยาเข้าลำคอโดยตรง จะทำให้เด็กเกิดการสำลักได้ และระหว่างการป้อนหากมียาหก (ซึ่งอาจจะทำให้เด็กได้ยาไม่ครบ) ก็ไม่ต้องให้ยาซ้ำ เนื่องจากเราไม่ทราบว่ายาที่หกไปมีปริมาณเท่าใดกันแน่

7. วิธีเก็บรักษายาที่ถูกต้อง
การเก็บรักษายาที่ถูกวิธี คือ ควรเก็บยาไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน และตรวจสอบอายุยาทุกครั้งก่อนหยิบใช้ โดยเราจะเก็บยาที่หมดอายุก่อนไว้ด้านหน้าและหยิบใช้ก่อน ส่วนยาที่หมดอายุทีหลังจะเก็บไว้ด้านใน และควรตรวจสอบอายุยาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มียาหมดอายุค้างอยู่ในตู้ยา

กรณีที่ไม่มีตู้ยา ควรเก็บในที่ที่พ้นมือเด็ก ห่างไกลแสงแดด ความร้อนและความชื้น และการเก็บยาที่เปิดใช้แล้วไว้ในตู้เย็นนั้น อาจจะเหมาะกับยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะที่ผสมน้ำแล้ว ซึ่งจะใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ยาบางชนิด เช่น ยาน้ำเชื่อมอาจจะไม่เหมาะที่จะเก็บในตู้เย็น เพราะจะเกิดการตกตะกอน และทำให้ยาเปลี่ยนสภาพได้ ดังนั้นขอให้ดูฉลาก รวมถึงระวังในกรณีที่เก็บยาไว้ในตู้เย็น คือ ต้องไม่วางยารวมไว้กับขวดน้ำดื่ม เพราะเด็กอาจหยิบยาไปกินด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ได้

ที่มา : ระบบเครือข่ายเภสัชสนเทศประชานาถ (Prachanath DIS Collaboration) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
https://bit.ly/3Picq3q


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท