Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคระบาดที่มากับสายฝน


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

09-07-2022 11:51

หลายพื้นที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและอุณหภูมิที่ไม่แน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด ที่ต้องระมัดระวัง

ภาพประกอบเคส

หลายพื้นที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและอุณหภูมิที่ไม่แน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด ที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่

1) โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ รวมไปถึงโรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ

อาการ ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อ บิดอาจมีมูกหรือเลือดอุจจาระปนได้

คำแนะนำ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

2) โรคไข้หวัดใหญ่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ซึ่งปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H3N2 และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีก เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้

อาการ ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูกและไอร่วมด้วย ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือ ภาวะปอดอักเสบ

คำแนะนำ ใช้ผ้าปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ

3) โรคฉี่หนู (Leptospirosis) กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง มักพบการติดเชื้อชนิดนี้ได้ในสุนัขหรือสัตว์ตามฟาร์ม เช่น สุกร โค กระบือ รวมถึงสัตว์จำพวกหนู ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ เกษตรกร คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คนหาปลาตามแหล่งน้ำจืด ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ และคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนานๆ เป็นต้น

อาการ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อกได้

คำแนะนำ ไม่ลุยน้ำขัง ใส่รองเท้าบูท

4) โรคไข้เลือดออก กลุ่มโรคที่มาจากยุง มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) และโรคมาลาเรียที่ต้องระวัง

อาการ ผู้ป่วยระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ อาการไข้ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง พร้อมกับอาการเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็นหรือช็อกได้

คำแนะนำ ทายากันยุง อยู่ห่างจากที่ยุงชุม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

นอกจากนี้หากโดนน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา อาจทำให้เป็นโรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือการแช่น้ำสกปรกนานๆ ก็เป็นที่มาของปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อราได้เช่นกัน เมื่อฝนเริ่มมาและอาการป่วยไข้เริ่มถามหา หากต้องกินยาลดไข้ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด ห้ามกินยาในกลุ่มแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3bNQCOH


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท