ลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยการเลี่ยงข้าว แป้ง ขัดสี
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
09-07-2022 10:46
ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการขัดสี จะมีใยอาหารน้อยแต่น้ำตาลสูง สามารถย่อยและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็ว เมื่อน้ำตาลในเลือดไปทำปฏิกิริยากับโปรตีน ทำให้โปรตีนเกิดการผิดรูป และก่อให้เกิดสารที่ชื่อว่า AGEs (Advanced glycation end products) ซึ่งเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะนั้นให้ทำงานน้อยลง จนเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการขัดสี จะมีใยอาหารน้อยแต่น้ำตาลสูง สามารถย่อยและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็ว เมื่อน้ำตาลในเลือดไปทำปฏิกิริยากับโปรตีน ทำให้โปรตีนเกิดการผิดรูป และก่อให้เกิดสารที่ชื่อว่า AGEs (Advanced glycation end products) ซึ่งเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะนั้นให้ทำงานน้อยลง จนเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการกินข้าว แป้ง ที่ผ่านกระบวนการขัดสี เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และควรกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกชนิดที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล เป็นต้น เพราะนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีใยอาหารสูง จัดเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำกว่าข้าวขาว ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยยับยั้งการเกิด AGEs ได้
ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินอาหารได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ต้องระมัดระวังในการเลือกชนิดอาหาร และควบคุมปริมาณให้เหมาะสม จะได้ไม่รับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป โดยมีหลักง่าย ๆ ดังนี้
1) กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ วันละ 3 มื้อ ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกมื้อทุกวัน ไม่กินจุบจิบระหว่างมื้อ
2) ควรกินผักทุกมื้อ ทั้งผักสดหรือผักต้ม คุมปริมาณการบริโภคผักที่มีแป้งสูง เช่น ฟักทอง แครอท มันแกว เมล็ดถั่วลันเตา เป็นต้น
3) เลี่ยงการบริโภคน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหวาน ผลไม้เชื่อมแช่อิ่ม ผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ทุเรียน มะขามหวาน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด น้อยหน่า แตงโม ขนุน เป็นต้น
4) หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ได้แก่ ไขมัน สัตว์ เนย มันหมู เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ หอยนางรม ไข่แดง ครีม กะทิ เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารจากทอดเป็นตุ๋น ต้ม นึ่ง แทน
5) ควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
6) ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ หรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อยาที่ใช้ควบคุมเบาหวานและโรคต่าง ๆ
7) ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ให้ได้สัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
8) งดสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
9) พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อตรวจติดตามน้ำตาลในเลือด ใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับหรือลดขนาดยาตามความรู้สึก ห้ามซื้อยาชุดมากินเอง สำหรับการใช้สมุนไพรควรพิจารณาร่วมกันกับแพทย์ผู้รักษา
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/3zXT7b6