Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

8 ข้อคิดเมื่อตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

13-03-2022 17:44

ปัญหาหย่าร้างของคู่สามีภรรยากำลังทำให้สถาบันครอบครัวในปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย และเพิ่งผ่านประสบการณ์การหย่าร้างมา ต้องแยกจากครอบครัวที่เคยอยู่ร่วมกันพ่อแม่ลูก มาสร้างอนาคตใหม่เพียงลำพัง อาจสูญเสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ และมองไม่เห็นหนทางในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและลูก

ภาพประกอบเคส

ปัญหาหย่าร้างของคู่สามีภรรยากำลังทำให้สถาบันครอบครัวในปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย และเพิ่งผ่านประสบการณ์การหย่าร้างมา ต้องแยกจากครอบครัวที่เคยอยู่ร่วมกันพ่อแม่ลูก มาสร้างอนาคตใหม่เพียงลำพัง อาจสูญเสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ และมองไม่เห็นหนทางในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและลูก

8 ข้อคิดเมื่อตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

  1. ต้องบอกกับตัวเองว่าเมื่อตัดสินใจแล้วชีวิตต้องดำเนินต่อไป เพราะเราได้เลือกหนทางนี้แล้ว การสร้างพลังใจที่ยิ่งใหญ่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต่อให้กำลังใจจากคนรอบข้างมากมายขนาดไหน แต่พลังใจของตนเองสำคัญที่สุด ต้องเข้มแข็ง และยืนหยัดให้ได้ในเร็ววันค่ะ
  2. ต้องดำเนินชีวิตปกติกับลูก อย่าท้อแท้หรือหมดหวังต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจและมั่นคง ควรบอกความจริงกับลูก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับวัยของลูกด้วยว่าเขาจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าวัยเด็กเล็กก็บอกลูกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าพ่อไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แม่ จะเป็นทั้งแม่และพ่อด้วย เขาอาจจะถามถึงพ่อ แต่ก็ยังไม่อาจเข้าใจเหตุผลได้ทั้งหมด ถ้าแม่ยังคงดำเนินชีวิตปกติ เขาก็สามารถปรับตัวได้ค่ะ แต่ถ้าลูกโตพอจะเข้าใจเหตุผลได้แล้ว ก็อธิบายให้ลูกฟังได้ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่เข้าใจ หรือเพราะเป็นเด็ก เขาโตพอที่จะรับรู้เรื่องราวและซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของแม่ได้ การร้องไห้ให้ลูกเห็นไม่ได้หมายความว่าอ่อนแอ ตรงกันข้ามลูกจะได้เข้าใจด้วยว่าแม่เสียใจ แต่ก็พยายามที่จะยืนหยัดเผชิญปัญหาค่ะ
  3. ต้องไม่ต่อว่าสามีหรือพ่อของลูก ไม่ว่าคุณจะรู้สึกไม่ดีอย่างไร อย่าใส่ความเกลียดชังของเราที่มีต่ออีกฝ่ายให้กับลูก เพราะลูกไม่ได้รับรู้เรื่องราวของพ่อแม่ อย่างไรเขาก็เป็นลูก อย่างไรพ่อกับลูกก็ต้องได้พบกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้พฤติกรรมของความรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของความเป็นพ่อแม่ด้วยค่ะ
  4. ต้องไม่ลืมว่าอารมณ์และพฤติกรรมของแม่ ส่งผลโดยตรงต่อลูก ฉะนั้นต้องปรับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองให้ได้ก่อน บางคราทุกข์ระทม บางคราเศร้า บางคราเครียด ก็ค่อยๆ คลี่คลายสถานการณ์ เพราะมีโอกาสอย่างมากที่อาจนำอารมณ์ที่ปะทุอยู่สาดลงไปที่ลูกได้ค่ะ
  5. ต้องเชื่อว่าสามารถจัดการชีวิตด้วยตัวเองได้ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่อย่าคิดว่าอยู่เพียงลำพัง ยังมีคนรอบข้างที่รักคุณมากมายพร้อมจะช่วยเหลือและเป็นกำลังใจที่ดีให้เสมอ รวมถึงลูกของคุณเองด้วย
  6. ต้องคุยกับอดีตสามีหรือพ่อของลูกตรงไปตรงมาว่าจะวางแผนเรื่องลูกอย่างไร อย่าคิดว่าฉันเข้มแข็งฉันสามารถหาเลี้ยงลูกได้ เพราะเรื่องลูกเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ที่มีส่วนให้กำเนิดชีวิตเขา การให้ฝ่ายพ่อรับผิดชอบร่วมเป็นเรื่องที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่ที่ผ่านมาผู้หญิงบ้านเรามักจะไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะชอบบอกว่าลูกของฉัน ฉันสามารถเลี้ยงดูได้ แต่แท้ที่จริงแล้วการที่ผู้หญิงคิดเช่นนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ผู้ชายไร้ความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
  7. ต้องพยายามหากิจกรรมร่วมกับลูกบ่อยครั้ง อาจจะชวนญาติพี่น้องมาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยก็ได้ ถ้าเป็นลูกชายก็อาจชวนญาติผู้ชายมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อให้ลูกได้ซึมซับบทบาทของความเป็นผู้ชาย หรือถ้าพ่อต้องการมารับลูกไปทำกิจกรรม ก็ไม่ควรกีดกัน แต่ควรส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสอยู่กับพ่อด้วย จะทำให้ลูกเข้าใจชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญเข้าใจแม่ด้วย
  8. ต้องมีสังคม ปัจจุบันมีกลุ่มครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเกิดขึ้นมากมาย ที่พร้อมจะช่วยเหลือและรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน ที่สำคัญยังมีการแบ่งปันประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกระหว่างกันด้วย ซึ่งจะสร้างความมั่นใจมากขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ได้โดดเดี่ยว หรือเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง

ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ขอให้เชื่อในสัญชาตญาณความเป็นแม่ ความรักที่มีต่อลูกจะสามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรได้ตั้งมากมาย อย่างที่ตัวคุณเองก็คาดไม่ถึง

ที่มา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://www.thaihealth.or.th/sook/info-mind-detail.php?id=41


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท