Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

กระเพาะอาหารของลูกแรกเกิด ในวันแรกมีขนาดใหญ่เท่าไร


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

19-06-2022 08:23

อวัยวะทุกส่วนของทารกแรกเกิด ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ธรรมชาติของทารกที่ยังอยู่ในท้องแม่ จะมีการกลืนน้ำคร่ำเข้าท้องทีละอึก แต่ละอึกห่างกันสักระยะหนึ่ง นั่นคือปริมาณน้ำที่กระเพาะลูกรองรับได้ในแต่ละครั้ง

ภาพประกอบเคส

อวัยวะทุกส่วนของทารกแรกเกิด ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ธรรมชาติของทารกที่ยังอยู่ในท้องแม่ จะมีการกลืนน้ำคร่ำเข้าท้องทีละอึก แต่ละอึกห่างกันสักระยะหนึ่ง นั่นคือปริมาณน้ำที่กระเพาะลูกรองรับได้ในแต่ละครั้ง

เมื่อถึงวันแรกหลังคลอด กระเพาะของลูกก็ยังอยู่ในระยะปรับตัวจึงไม่ชินกับปริมาณนมจำนวนมากๆ

น้ำนมที่ลูกดูดกลืนในวันแรกเรียกว่า “โคลอสตรัม” โดยจะดูดเข้าไปทีละเล็กละน้อย แต่ดูดบ่อยตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม มีสารภูมิคุ้มกันเต็มเปี่ยม

กระเพาะอาหารของลูกมีความจุเท่าไร มีการศึกษาขนาดของกระเพาะทารกแรกเกิด พบว่า

  • ในวันแรกหลังคลอด กระเพาะอาหารของลูกมีความจุเพียง 5-7 มิลลิลิตร หรือจะเทียบกับขนาดของผักผลไม้ที่เราคุ้นเคย คือขนาดประมาณ “มะเขือเทศสีดา” สีแดงที่เราใส่ในส้มตำเท่านั้น ยืดหยุ่นได้น้อย หากทารกดูดนมเข้าไปเกิน 5-7 มิลลิลิตร ทารกจะแหวะนมออกมา เพราะกระเพาะจะยังไม่ยืดออกเพื่อรองรับปริมาณนมที่มากกว่าความจุนั่นเอง
  • ในวันที่ 3 หลังคลอด กระเพาะอาหารของลูกมีความจุ 22-27 ซีซี หรือประมาณ 1 ออนซ์ ( เทียบขนาดได้เท่ากับกำปั้นของทารกเอง หรือ มะเขือเปราะ) ทั้งนี้ปริมาณน้ำนมแม่จะผลิตมากขึ้นตามการดูดของลูก และกระเพาะอาหารของลูกจะมีการปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
  • ในวันที่ 7 หลังคลอด กระเพาะอาหารของลูกมีความจุ 65 ซีซีต่อมื้อ จนกระทั่งขนาดกระเพาะอาหารของลูกในช่วงอายุ 10 วัน จะใหญ่ประมาณไข่ไก่ หรือ มะเขือเทศท้อ

คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายคลายกังวลเรื่องน้ำนมน้อยในระยะแรกๆ ไปเลย เพราะจำนวนน้ำนมที่น้อยนั้นพอเหมาะกับกระเพาะของลูกแล้ว ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ทารกแรกเกิดปกติที่สุขภาพดี กินนมแม่อย่างเดียวในวันแรกเพียง 15 ถึง 26 กรัมต่อวัน เท่านั้น ก็เพียงพอสำหรับลูกแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การที่ลูกได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ ได้ดูดนมแม่ได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องกำหนดเวลาเป็นการกระตุ้นกลไกธรรมชาติในการสร้างน้ำนมแม่ และทำให้มีน้ำนมผลิตออกมาได้เพียงพอในวันต่อๆมา

ที่มา : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย https://bit.ly/3xbYW1s


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท