Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

3 อย่างที่ประชาชนต้องรู้ ก่อนถอดแมสก์


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: โควิด

15-06-2022 10:29

บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่า ตัวเอง หรือคนใกล้ชิด พร้อมสำหรับการถอดหน้ากากอนามัยแล้วหรือยัง

ภาพประกอบเคส

นับตั้งแต่โลกต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เราจำเป็นต้องอยู่กับการใช้ชีวิต แบบ New Normal มานานหลายปี นับตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลก ได้ผลักดันการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และหวังว่าจะฟื้นฟูประเทศ และเศรษฐกิจให้กลับไปสู่จุดเดิมได้ ซึ่งต้นปี 2022 ที่ผ่านมาหลายเมืองใหญ่ทั้งโซนยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่าง เช่น นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการออกประกาศให้การถอดหรือใส่หน้ากากอนามัย เป็นความสมัครใจของประชาชน เริ่มมีให้เห็น และถูกพูดถึงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ถ้าเราเดินทางไปถึงจุดที่สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้แล้วหรือไม่? ถ้าถึงเป้าหมายนั้นแล้ว เราจำเป็นต้องรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง? ก่อนที่จะลดการป้องกันตัวเองลง

บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่า ตัวเอง หรือคนใกล้ชิด พร้อมสำหรับการถอดหน้ากากอนามัยแล้วหรือยัง

1.เราต้องรู้ว่า คนที่มีความพร้อมมากพอจะถอดหน้ากากอนามัย ไม่ใช่ทุกคน แต่ต้องเป็นคนที่ได้รับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนประเภท adenovirus vector เช่น แอสตร้าเซเนกา และต้องมีวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เรียบร้อยแล้ว

2.เมื่อเรารู้แล้วว่าต้องมีความพร้อมด้านใดบ้าง ถึงจะถอดหน้ากากอนามัยได้ สิ่งที่เราต้องพึงระลึกไว้ คือ การถอดหน้ากากอนามัย ควรถอดหน้ากาก เมื่ออยู่ในสถานที่ ที่เปิดโล่ง ไม่แออัด และจำนวนคนไม่หนาแน่นจนเกินไป เช่น สวนสาธารณะ ชายหาด สนามกีฬา ที่เว้นระยะห่างจากบุคคคลอื่นไม่ต่ำกว่า 2 เมตร แต่หากเป็นสถานที่ปิด เช่น อาคารแบบปิด ผับ บาร์ สถานบันเทิง รวมทั้งสถานที่ทำงานที่มีแอร์ หรือพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาล ยังมีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเดิม

3.สำรวจตัวเองว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ใช่หรือไม่ (กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) ถ้าใช่ ก็ยังมีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเบาหวานแบบคุมไม่ได้ และกลุ่มที่ภูมิต้านทานบกพร่อง

สำหรับการประกาศของรัฐบาล เกี่ยวกับการคลายมาตรการให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัย ยังคงต้องรอดูความชัดเจนต่อไป แต่หากอ้างอิงจากข้อมูล พื้นที่จังหวัดสีเขียว และสีฟ้า ที่จะได้รับการพิจารณาให้ถอดหน้ากากอนามัยช่วงกลางเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้ ได้แก่

1) พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เฝ้าระวัง) 14 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พิจิตร อ่างทอง น่าน มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ลำปาง อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ตราด สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี
2) พื้นที่สีฟ้า (พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว) 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา

ซึ่งมาตรการต่างๆ และพื้นที่จังหวัดที่กล่าวมา เป็นไปตามนโยบายของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ต้องนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาว่าประชาชน และพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มนั้นๆ มีความพร้อมมากแค่ไหน ยกตัวอย่าง เช่น จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ ที่ได้มีการจัดประชุมหารือกับ ศบค. ชุดเล็ก ประจำจังหวัด ถึงแนวทาง มาตรการ และสถานการณ์การแพร่ระบาดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดในจังหวัดสามารถควบคุม และรักษาได้ หากเกิดการติดเชื้อ ก็สามารถเสนอเรื่องไปยัง ศบค. ชุดใหญ่ ให้พิจารณาได้

สรุปแล้วการถอดหน้ากากอนามัย ในปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่ได้ผ่อนคลายมาตรการ แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งหากมีประกาศผ่อนคลายมาตรการออกมา การถอดหน้ากากอนามัยก็ยังถือเป็นความสมัครใจ ของแต่ละคน ซึ่งในด้านการป้องกันสุขภาพทั่วไป การใส่หน้ากากอนามัย นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แล้ว ยังสามารถป้องกันไข้หวัดทั่วไปได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจถอดหน้ากากอนามัย คำแนะนำสำหรับการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือ การหมั่นล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องสัมผัสจุดสัมผัสร่วม เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ปิด หรือสถานที่ ทีมีคนรวมตัวกันหนาแน่น สำหรับการรับประทานอาหารที่ต้องเปิดหน้ากากอนามัย แนะนำให้ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อในร้านอาหาร


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท