ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
13-03-2022 15:35
สถานการณ์ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยนั้นมีอะไรบ้าง
สถานการณ์ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยนั้นมีถึง 7 อันดับด้วยกัน ได้แก่
- การสูญเสียฟัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบดเคี้ยวอาหาร การกลืนอาหาร ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม นอกจากนี้ยังส่งผลให้ความสูงของใบหน้าลดลงเนื่องจากไม่มีฟันมารองรับ ใบหน้าเหี่ยวย่น พูดไม่ชัด จนอาจเกิดความกังวลในการเข้าสังคมได้
- ฟันผุ รากฟันผุ และเหงือกอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีสาเหตุจากคราบจุลินทรีย์สะสมที่ฟันและขอบเหงือก ดังนั้นการกำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวันจะช่วยป้องกันฟันผุ เหงือกอักเสบ และลดการติดเชื้อในช่องปากได้
- ภาวะน้ำลายแห้ง อาการที่สังเกตได้เอง เช่น รู้สึกปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย น้ำลายเหนียว ข้น เจ็บภายในปาก แสบลิ้น ลิ้นแห้ง แดง ไม่รู้รส มุมปากแตก ริมฝีปากแห้งบ่อยๆ พูด เคี้ยว กลืนลำบาก ภาวะปากแห้งน้ำลายแห้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาในช่องปากอื่น ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาฟันผุ
- แผลและมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งในช่องปากแสดงด้วยอาการเจ็บปวดหรือก้อนเนื้อที่โตขึ้นในปากและไม่ดีขึ้นตามเวลา พบได้ในช่องปาก ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เนื้อพื้นปาก เพดานปาก และสามารถเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ในช่วงต้นของการดำเนินโรค
- ฟันสึก อาจเกิดจากการแปรงฟันผิดวิธี ใช้ขนแปรงแข็งเกินไป ใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดมาก หรือมีลักษณะหยาบมากๆ เป็นประจำ คราบที่ติดตัวฟันอาจจะออกง่าย ถ้าสึกเล็กน้อยจะไม่มีอาการ แต่ถ้าสึกมากขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เปรี้ยวจัด เย็นจัด หรือเสียวฟันขณะแปรงฟัน ซึ่งหากปล่อยให้ฟันสึกไปเรื่อยๆ โดยไม่รักษา ฟันจะสึกมากขึ้น เข้าไปใกล้โพรงประสาทฟัน ทำให้เปลี่ยนจากเสียวฟันเป็นปวดฟันได้
- โรคช่องปากที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน หลายการศึกษาที่บ่งบอกว่าโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก ซึ่งรวมถึงอาการปากแห้งเนื่องจากน้ำลายไหลน้อยลง อาการปวดแสบปวดร้อน ติดเชื้อในช่องปากง่าย แผลหายช้า นำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด
การดูแลรักษาความสะอาดฟันของผู้สูงอายุทำได้ยากกว่าฟันทั่วๆ ไป ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากดีจะช่วยให้รู้สึกสบาย รับประทานอาหารได้อร่อยและหลากหลายประเภท มีร่างกายแข็งแรง ช่วยการพูดออกเสียงได้ชัดเจน ไม่ต้องกังวลในการเข้าสังคมและส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าสุขภาพช่องปากไม่ดีจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้
ที่มา :
(1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) https://bit.ly/3BY7sDB
(2) ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ https://bit.ly/3ta21gN