Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

11-06-2022 09:40

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox virus) ในแอฟริกากลางและตะวันตก โดยมีอาการของโรครุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่คนที่ติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีโอกาสน้อยในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน แต่ก็สามารถติดโรคได้ โดยพบอัตราการตายสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก สูงถึงร้อยละ 10 และยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถใช้ป้องกันได้

ภาพประกอบเคส

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox virus) ในแอฟริกากลางและตะวันตก โดยมีอาการของโรครุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่คนที่ติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีโอกาสน้อยในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน แต่ก็สามารถติดโรคได้ โดยพบอัตราการตายสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก สูงถึงร้อยละ 10 และยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถใช้ป้องกันได้

ลักษณะทั่วไปของโรค

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น vaccinia virus, cowpox virus, variola virus เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ

อาการและการก่อโรค

โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน

  • ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการป่วย คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย
  • จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
  • อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ ทั้งนี้อัตราตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10

การป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ที่มา : ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ https://bit.ly/3wDTDrr
: กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค https://bit.ly/39Evklq


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท