วัยทองกับการใช้ฮอร์โมนทดแทน
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
01-06-2022 07:13
ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ร่างกายแสดงความเป็นผู้หญิง แต่เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันควร หรือในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่าง ๆ มาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น
ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ร่างกายแสดงความเป็นผู้หญิง แต่เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันควร หรือในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่าง ๆ มาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น
การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) จึงเป็นการรักษาอาการร้อนวูบวาบ ปวดกล้ามเนื้อ ลดอารมณ์แปรปรวนจากภาวะหมดประจำเดือน ลดปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดแห้งและคัน ป้องกันภาวะกระดูกพรุน โดยใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างรุนแรง และไม่มีข้อห้ามในการใช้ ฮอร์โมนทดแทนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
Estrogen อย่างเดียว : ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ
- ชนิดใช้ภายนอก มีทั้งรูปแบบเจลทาเฉพาะที่และแบบแผ่นแปะ โดยยารูปแบบทาเฉพาะที่ช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดแห้งและคัน เป็นต้น
- ชนิดรับประทาน ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ และอาการที่เป็นปัญหาทางเพศ
Estrogen + Progestogen : มีทั้งรูปแบบทางผิวหนัง หรือ รับประทาน ได้แก่
- ชนิดที่ใช้เป็นรอบเดือน (Cyclic regimen)
- ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen)
ฮอร์โมนทดแทนก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้ยาบางราย ได้ดังนี้
- คลื่นไส้ คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดศีรษะไมเกรน
- ฮอร์โมนแบบแปะผิวหนังพบว่าอาจมีการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่แปะได้
- ความเสี่ยงอื่นที่อาจพบได้ เช่น ภาวะเลือดออกในช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม (ผู้ที่มีภาวะดังกล่าว ไม่สมควรใช้) เป็นต้น
ทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน ได้แก่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน หรืออาหารบางชนิดที่มีส่วนประกอบบางอย่างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง เช่น นมถั่วเหลือง ธัญพืช เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม คือ สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที
- ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้แจ่มใส
เนื่องจากฮอร์โมนทดแทน มีทั้งประโยชน์และอาจเกิดโทษหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนทดแทนมารับประทานเอง และผู้หญิงที่มีอาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องใช้ ระยะเวลาในการใช้ฮอร์โมนขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ หากพบมีความผิดปกติของร่างกายควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. )
https://bit.ly/38yIOiw