Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ภาวะเปลือกตาหย่อน


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

13-03-2022 15:20

ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้สามารถหย่อนคล้อยลงมาได้

ภาพประกอบเคส

ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้สามารถหย่อนคล้อยลงมาได้ แต่ว่าในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือชาติพันธุ์ เช่น ในคนเอเชียที่มีตาชั้นเดียวและมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามาก ทำให้ชั้นหนังตาห้อยลงมาต่ำกว่าระดับขนตา และโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจพบภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis) และคิ้วตก (brow ptosis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องแยกสาเหตุเพราะวิธีการรักษาแตกต่างกัน

อาการของภาวะเปลือกตาหย่อน

หนังตาส่วนเกินจะหย่อนคล้อยลงมา มักจะเริ่มจากทำให้หางตาดูตกไม่สวยงาม หรือเดิมที่เคยดูเหมือนมีตา 2 ชั้น แต่ชั้นตาจะดูแคบลง พอเริ่มเป็นมากขึ้นจะดูเหมือนตาหรี่เล็กลงเรื่อย ๆ ดูคล้ายตาชั้นเดียวแทน ถ้าเป็นมากอาจบดบังลานสายตาด้านข้างทำให้ใช้สายตาได้ลำบาก โดยเฉพาะเวลาขับรถแล้วต้องเปลี่ยนเลนอาจจะต้องใช้การหันศีรษะช่วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเมื่อยล้าหน้าผาก เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากช่วยยกเปลือกตาบนขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งอาจมีรอยย่นที่หน้าผากถาวรได้ ในบางกรณีขนตาอาจถูกหนังตาที่หย่อนกดลงและม้วนเข้าในทำให้กระจกตาตรงตาดำเป็นแผลหรือระคายเคืองได้ หากมีอาการตามนี้ให้รีบพบแพทย์

การรักษาภาวะเปลือกตาหย่อน

ภาวะเปลือกตาหย่อนสามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดเปลือกตา โดยเลือกตัดบริเวณหนังตาที่ห้อยย้อยลงมาออก รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณชั้นตา (ถ้ามีชั้นตา) ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการนำไขมันส่วนเกินที่ทำให้เปลือกตาอูมออกได้ด้วย ก่อนที่จะเย็บปิดแผลตรงชั้นตาให้สวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ อาจทำร่วมกับการผ่าตัดตาทำตาสองชั้นได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมหรือเขียวช้ำบริเวณที่ผ่าตัดประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นและกลับมาใกล้เคียงปกติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

หลังผ่าตัดควรรับประทานยา หรือทายาตามคำแนะนำของแพทย์ และควรระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ เหงื่อหรือสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อน เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ หลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาทำการตัดไหม หลังจากนั้นยังไม่ควรขยี้ตาเพราะจะทำให้แผลเปิดได้ รวมถึงมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามดูอาการ

ที่มา : ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1437


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท