เผลอกินเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
28-05-2022 16:25
ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้น ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษซึ่งจะพบมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้
ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้น ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษซึ่งจะพบมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้
เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น
1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน
2) เห็ดถ่านเลือด คล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม
3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่มักสับสนกับเห็ดขิง ชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า
4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงในการบริโภคเห็ด
- การกินเห็ดร่วมกับแอลกอฮอล์ทำให้เกิดพิษได้ เช่น เห็ดน้ำหมัก
- การกินเห็ดที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่าเห็ดชนิดนั้นกินได้หรือไม่
- การกินเห็ดดิบๆ ทำให้เกิดพิษ เช่น เห็ดน้ำหมาก
- การต้มเห็ดรวมกับข้าวสาร หัวหอม และเครื่องเงิน แล้วไม่เปลี่ยนสีแสดงว่าเป็นเห็ดกินได้ เป็นความเชื่อที่ผิด โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้
อาการหลังรับประทานเห็ดผิด
- เห็ดมีพิษไม่รุนแรง หลังรับประทานจะมีอาหารจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว เกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีแต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ส่วนใหญ่หายเองได้เมื่อได้รับการรักษา
- เห็ดมีพิษรุนแรง จะมีอาการตับวาย ไตวาย ชักรุนแรงต่อเนื่อง หมดสติและเสียชีวิตได้ เกิดอาการ 4 ชั่วโมงขึ้นไปหลังรับประทานเห็ด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ลดการดูดซึมของพิษ โดยให้ดื่มผงถ่านกัมมันต์ 50 g ละลายน้ำเปล่า (ผงถ่านกัมมันต์ 1g. ต่อน้ำหนักตัวผู้ป่วย 1 kg.) *ทั้งนี้ถ่านหุงต้มไม่สามารถใช้แทนได้
- อย่าล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะการอาเจียนมากเกินไปจะทำให้ความดันต่ำ หรือระดับเกลือแร่ผิดปกติ อาจทำให้เกิดแผลในลำคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้
- หากปล่อยไว้นานผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิต ดังนั้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
- แจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดให้แพทย์ดู เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี
ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/173958/