Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

Brown sugar ความหวานเทรนด์ใหม่ ที่เราควรระวัง


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

28-05-2022 15:11

Brown sugar หรือ น้ำตาลทรายแดง เป็นเทรนด์ความหวานยอดฮิตติดกระแสในขณะนี้ ที่มักพบเจอในรูปที่มาพร้อมกันกับชานมไข่มุก Brown sugar ที่หลายๆ คนติดใจ

ภาพประกอบเคส

Brown sugar หรือ น้ำตาลทรายแดง เป็นเทรนด์ความหวานยอดฮิตติดกระแสในขณะนี้ ที่มักพบเจอในรูปที่มาพร้อมกันกับชานมไข่มุก Brown sugar ที่หลายๆ คนติดใจ เพราะมีรสหวานเฉพาะตัวจากวัตถุดิบหลัก คือ อ้อย และยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่ทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลทรายแดงนั้น มีความอร่อยยิ่งขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายๆ คน เลือกที่จะใช้น้ำตาลทรายแดงในอาหารหลายประเภท โดยเฉพาะในขนมไทย เช่น เฉาก๊วย เต้าฮวย หรือเบเกอรี่ที่ต้องการเนื้อสัมผัสที่นิ่มขึ้น เช่น เค้ก หรือ ซอฟ คุ้กกี้ เนื่องจากเป็นน้ำตาลที่มีความชื้นมากกว่า รวมไปถึงอาหารที่ต้องการสีน้ำตาลที่เข้มขึ้น ก็สามารถเลือกใช้น้ำตาลทรายแดงเป็นส่วนประกอบได้ เช่น เค้กกล้วยหอม รวมไปถึงชานมไข่มุกยอดฮิตตอนนี้ด้วย

น้ำตาลทรายแดงมีองค์ประกอบหลักคือน้ำตาลซูโครส ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักเดียวกับน้ำตาลทรายขาว โดยกระบวนการผลิตของน้ำตาลทรายแดงนั้นเกิดจากการเคี่ยวน้ำอ้อยให้ระเหยจนตกผลึก แล้วถูกบดให้ร่วนจนกลายเป็นน้ำตาลทรายแดง หรืออาจมีการเพิ่มกากน้ำตาล (Molasses) เพื่อเพิ่มให้มีสีน้ำตาลเข้มมากขึ้น ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ผ่านการกรองอย่างละเอียดจนเป็นสีขาวบริสุทธิ์เหมือนกับน้ำตาลทรายขาว ทำให้น้ำตาลทรายแดงมีแร่ธาตุบางอย่างสูงกว่าน้ำตาลทรายขาวเล็กน้อย ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และ โซเดียม (ข้อมูลจาก INMUCAL software, สถาบันโภชนาการมหิดล) แต่ก็มีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่น ๆ จึงไม่สามารถอ้างว่าน้ำตาลทรายแดงว่าเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ และน้ำตาลทรายแดงยังจัดได้ว่าเป็นอาหารประเภท empty calories หรือเป็นแหล่งของอาหารที่ให้แต่พลังงาน แต่แทบไม่ให้คุณค่าทางสารอาหารอื่นๆ เลยอยู่ดี ซึ่งน้ำตาลทรายขาว จะให้พลังงาน 4 kcal ต่อ 1 กรัม (16 kcal ต่อช้อนชา) ส่วนน้ำตาลทรายแดงจะให้พลังงาน 3.8 kcal ต่อ 1 กรัม (15.2 kcal ต่อช้อนชา) ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากน้ำตาลทรายขาวมากนัก จึงไม่สามารถอ้างว่าน้ำตาลทรายแดงดีกว่าน้ำตาลทรายขาวได้

การรับประทานน้ำตาลที่เติมลงไปในอาหาร หรือ added sugar มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลทรายขาวก็ไม่แตกต่างกัน ฉะนั้นการเลือกรับประทานน้ำตาลทรายแดง แทนน้ำตาลทรายขาว อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกใช้ เพื่อรับรู้ รส กลิ่น สี และสัมผัส ในอาหารบางประเภทได้ดีกว่าเท่านั้น ไม่ใช่เหตุผลเรื่องสุขภาพ

ที่มา : พศิษฎ์ คณาศิริชัยนนท์ และ ปวีณา วงศ์อัยรา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ วิทยากรโภชนาการ เครือข่ายคนไทยไร้พุง
https://bit.ly/3sngVR3


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท