ทำความเข้าใจกับ “ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม”
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
28-05-2022 13:22
ภาวะสมองเสื่อม เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่แก้ไขได้และไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ขาดวิตามิน หรือจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส และเอดส์ เป็นต้น แต่โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด
ภาวะสมองเสื่อม เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่แก้ไขได้และไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ขาดวิตามิน หรือจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส และเอดส์ เป็นต้น แต่โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด
อาการโรคสมองเสื่อม
อาการเริ่มแรก ผู้ป่วยมักลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่งบอกไป หรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง
นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น วางของแล้วลืม ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ หลงทิศทาง นึกคำพูดไม่ค่อยออก หรือใช้คำผิด ๆ แทน มีอาการทางจิตประสาท เช่น หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอนตลอดจนไม่สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจและไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่น ผู้ป่วยจะประสบกับปัญหาความจำ หลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ๆได้ มีปัญหาทางด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ตะโกน ก้าวร้าว เป็นต้น
การเตรียมความพร้อมการในดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม
การดูแลผู้ป่วยมักจะตกเป็นภาระของสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่ง จนอาจทำให้ผู้ดูแลมีความรู้สึกฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ใช้คำพูดและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย ดังนั้นก่อนที่จะดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ผู้ดูแลต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจกับภาวะของโรคสมองเสื่อม เพื่อจะได้ให้การดูแลและเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ดังนี้
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ป้องกันการบาดเจ็บจากการดูแลผู้ป่วย เช่น ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้ายหรือยกตัวผู้ป่วยไม่ถูกวิธีและเกินกำลังของตน
- ควรทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุข คลายความเครียด
- ควรเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ตนเองมีภารกิจส่วนตัวที่จำเป็นหรือเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตามทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้แก่ผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว และควรจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม เพื่อการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพดีและมีความสุข ผู้ดูแลไม่ทุกข์มีสุขภาพกายและใจที่ดี
ที่มา : (1) สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ https://bit.ly/3PoX39Y
: (2) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://bit.ly/3wolNXo