Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ขี้หู อุดตัน...ทำอย่างไรดี


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

13-03-2022 14:55

ขี้หู สร้างจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ มีสารต่อต้านเชื้อโรคและไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม เข้าไปในช่องหู

ภาพประกอบเคส

ขี้หู สร้างจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ มีสารต่อต้านเชื้อโรคและไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม เข้าไปในช่องหู บางคนมีขี้หูเปียก บางคนมีขี้หูแห้ง บางคนมีขี้หูมาก บางคนมีขี้หูน้อย โดยปกติ ขี้หูจะมีการเคลื่อนที่จากเยื่อบุแก้วหูออกไปยังช่องหูชั้นนอกได้เองไม่จำเป็นต้องไปแคะออก ปัญหาของขี้หูเกิดขึ้นได้ ถ้าขี้หูมีปริมาณมาก และอุดตันช่องหูชั้นนอก ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหูหรือปวดหูหน่วงๆได้

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้ขี้หูมีปัญหาคือ การใช้ไม้พันสำลี ทำความสะอาดช่องหูชั้นนอก โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าหู ซึ่งทำให้รู้สึกรำคาญ การกระทำดังกล่าวจะยิ่งกระตุ้น ทำให้ต่อมสร้างขี้หู ทำงานมากขึ้น มีปริมาณขี้หูที่ผลิตออกมามากขึ้น และยิ่งดันขี้หูในช่องหูให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หูอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น เมื่อสงสัยว่ามีขี้หูอุดตัน ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหู จึงควรไปพบแพทย์

หากพบว่ามีขี้หู อุดตัน

  1. แพทย์จะพยายามนำขี้หูออกโดยการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ, การคีบ หรือดูดหรือใช้เครื่องมือแคะขี้หูออก
  2. ถ้าไม่สามารถเอาขี้หูออกได้ เนื่องจากขี้หูอัดกันแน่นมาก หรือเอาออกได้เพียงบางส่วน แพทย์จะสั่งยาละลายขี้หูให้ไปหยอด ได้แก่ โซเดียมคาร์บอเนต ซึ่งหลังจากหยอดหู จะทำให้ขี้หูในช่องหูขยายตัว และอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น ทำให้หูอื้อมากขึ้น ควรหยอดบ่อยๆ ยิ่งบ่อย ยิ่งดี (วันละ 7-8 ครั้ง) จะทำให้ขี้หูอ่อนตัวมากขึ้น และเอาออกได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปหยอดยาละลายขี้หูประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วนัดมาดูอีกครั้ง ผู้ป่วยไม่ควรที่จะลืมหยอดหูในวันที่แพทย์นัด เพราะอาจทำให้ขี้หูแห้ง และเอาออกยาก ในวันที่มาพบแพทย์ตามนัด ควรนำยาหยอดหูมาหยอดในระหว่างที่นั่งรอพบแพทย์ด้วย เพราะจะทำให้แพทย์เอาขี้หูออกได้ง่ายขึ้น
  3. หลังจากแพทย์เอาขี้หูออก จนบรรเทาอาการผิดปกติของหูแล้ว ควรป้องกันไม่ให้ขี้หูอุดตันอีกโดย
  4. ไม่ใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดหู หรือปั่นหูอีก ถ้าน้ำเข้าหูทำให้รู้สึกรำคาญจนต้องปั่น หรือเช็ดหู ควรป้องกันไม่ให้น้ำเข้าโดยหาสำลีชุบวาสลิน หรือที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำ ซึ่งมีขายตามร้านกีฬา มาอุดหูเวลาอาบน้ำ หรือผู้หญิงที่สวมหมวกอาบน้ำ ควรดึงหมวกให้มาคลุมใบหู เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
  5. อาจใช้ยาละลายขี้หู หยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง ก็จะช่วยลดการอุดตันของขี้หู ในช่องหูชั้นนอกได้

ที่มา : ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=748


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท