Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นต้องกินหรือไม่


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

15-05-2022 16:56

ยาถ่ายพยาธิ เป็นยาทีมีฤทธิ์ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิในร่างกายมนุษย์ ควรเลือกชนิดของยาถ่ายพยาธิให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่มีอยู่ในร่างกาย

ภาพประกอบเคส

ยาถ่ายพยาธิ เป็นยาทีมีฤทธิ์ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิในร่างกายมนุษย์ ควรเลือกชนิดของยาถ่ายพยาธิให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่มีอยู่ในร่างกาย

โดยทั่วไปพยาธิจะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน และพยาธิใบไม้

ประเภทยาถ่ายพยาธิ

  1. อัลเบนดาโซล (Albendazole) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลมและตัวตืด รวมทั้งพยาธิใบไม้ในตับหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือแพ้ยา ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  2. มีเบนดาโซล (Mebendazole) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลม และ พยาธิตัวตืดหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดท้อง ท้องเดิน และ ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  3. ปิเปอร์ราซีน (Piperazine) มีฤทธิ์ต่อพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย ผลข้างเคียง ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ้ารับประทานเกินขนาดมาก ๆ อาจท้าให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติได้ ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาถ่ายพยาธิไพแรนเทล พาโมเอต
  4. ไพแรนเทล พาโมเอต (Pyrantel pamoate) มีฤทธิ์ต่อพยาธิเส้นด้าย ไส้เดือนและปากขอ ผลข้างเคียง ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับปิเปอร์ราซีน
  5. นิโคลซาไมด์(Niclosamide) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวตืด ผลข้างเคียง คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย
  6. พลาซิควอนเทล (Praziquantel) มีฤทธิ์ต่อพยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ผื่นคัน ง่วงนอน
  7. ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ใช้รักษาพยาธิตัวกลม พยาธิตัวจี๊ด และสตรองจิลอยด์ ผลข้างเคียง ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ มึนงง ผื่นคัน ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร

ข้อควรระวังการใช้ยาถ่ายพยาธิ

  • ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปีหรือเพียงเพราะมีรูปร่างผอม
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด ดีกว่าการซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง
  • การไม่ซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเองอาจช่วยลดความเสี่ยงในการแพ้ยา การเกิดผลข้างเคียงต่างๆและผลต่อตับจากยา
  • ควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนรับประทานยาทุกครั้งและปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน

และที่สำคัญเน้นการป้องกันการติดพยาธิมากกว่าการคอยกินแต่ยาถ่ายพยาธิ

ยาถ่ายพยาธิแต่ละชนิด มีขนาดและระยะเวลาในการรับประทานแตกต่างกัน ดังนั้นควรรับประทานยาถ่ายพยาธิเมื่อแน่ใจว่าเป็นโรคพยาธิเท่านั้น โดยปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ทั้งนี้โรคพยาธิเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของบุคคลและสามารถป้องกันได้โดยส่งเสริมให้มีสุขลักษณะนิสัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนหรือหลังรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด งดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อน ไม่กินของที่ตกบนพื้นแล้ว หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือหรือสุกๆดิบๆ รวมถึงการล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค ควรสวมรองเท้าเวลาออกนอกบ้านทุกครั้ง

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3F6rP2F


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท